ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID – 19 ) ครั้งที่ 3/2565

          เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 5 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID – 19 ) ครั้งที่ 3/2565 โดยมีคณะกรรมการเข้าร่วมการประชุม  ได้แก่  รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ  รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล  ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้  รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม  รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล ผศ.ดร.สมพงษ์ สิทธิพรหม  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความปลอดภัย อาจารย์ ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์   ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คุณ สุนิภา ไสวเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี นอกจากนั้นเป็นคณะกรรมการที่เข้าประชุมฯผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

        รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID – 19 ) ครั้งนี้เราได้มีการประชุมกันถึงเรื่องแผนการฉีดวัคซีนซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ นักเรียน นักศึกษา และ บุคลากร สำหรับในกลุ่มนักเรียนซึ่งรวมถึงนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีการนัดให้มาฉีดวัคซีนในสัปดาห์ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นจะฉีดต่อเนื่องไปจนครบจำนวน ในส่วนของกลุ่มนักศึกษานั้นร้อยละ 98 ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มแล้วและมีบางคนได้รับเข็มที่ 3 และ 4 ไปบ้างแล้ว ดังนั้นเราจึงได้มีการประชุมหารือกันถึงการจัดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่จะวางแผนให้นักศึกษาที่ครบกำหนดหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไปมาฉีดเข็มที่ 3 ซึ่งมีทั้ง วัคซีนไฟเซอร์ Pfizerและแอสตร้าเซนเนก้า  AstraZeneca ขึ้นอยู่กับช่วงไหนวัคซีนชนิดไหนที่โรงพยาบาลได้รับการจัดสรรมา ซึ่งนักศึกษาที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่เป็นเชื้อตาย วัคซีนซิโนแวค (Sinovac)และวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์การจะได้รับการฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า  AstraZenecaหรือวัคซีนไฟเซอร์ Pfizerมีประสิทธิภาพป้องกันเท่ากัน ดังนั้นทางผู้จัดจะดูว่าเมื่อถึงคิวนัดจะมีวัคซีนตัวไหนให้ฉีดก็จะมีการติดต่อไปยังนักศึกษาแต่ละคน   ในส่วนบุคลากรได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นไปเป็นจำนวนมากแล้วเหลืออีกเพียง 1000กว่าคนจึงไม่น่าเป็นห่วงใดๆเพราะส่วนใหญ่ได้รับการฉีดทั้งจำนวน 2 เข็มและเข็มกระตุ้นจนเกือบหมดแล้วส่วนที่เหลือก็จะได้ฉีดตามนัดต่อไป
        รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวอีกว่า “ตอนนี้สถานการณ์การระบาดในจังหวัดขอนแก่นจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อลดลงและความรุนแรงก็ลดลงมาก ซึ่งได้แต่เฝ้าดูสถานการณ์ว่าจะลดลงเช่นนี้ไปเรื่อยๆหรือไม่ หากมีการลดลงต่อเนื่องและความรุนแรงน้อยลงก็จะสอดคล้องกับภาพรวมทั้งโลกว่าต่อไปโควิดก็คงจะกลายมาเป็นโรคประจำถิ่น”

ข่าว – กองสื่อสารองค์กร

Scroll to Top