มข. ร่วมส่งเสริมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับประเทศ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียนและฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกับ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และ National Institute for School Teacher and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ปีการศึกษา 2563 ระยะที่ 4 ระหว่างวันที่ 27 – 28 มกราคม 2565 ผ่านทางออนไลน์

เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับประเทศ และเพื่อเป็นการขยายผลการใช้นวัตกรรมการพัฒนาวิชาชีพครูที่วิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเข้าไปในหน่วยงานหลักของประเทศ รวมทั้งให้เกิดความเชื่อมั่นถึงการขยายผลในระดับโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นปัจจัยความสำเร็จ (Key success factor) ของการใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาวิชาชีพครู จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานระดับประเทศและระดับนานาชาติ จัดโครงการนำร่อง 3 ปี โดยมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 – 2563 และมีบุคลากรทางการศึกษาให้ความสนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการตลอด 3 ปี ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครูประจำการ

โดยในปีการศึกษา 2563 มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 81 คน ในรูปแบบการดำเนินการ ทั้งหมด 4 ระยะ ประกอบด้วย

  • ระยะที่ 1 การพัฒนาเกี่ยวกับบริบทการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 4 วัน
  • ระยะที่ 2 การจัดการชั้นเรียนและกระบวนการพัฒนาการสอนของประเทศญี่ปุ่น โดย สถาบันฯ NITS ประเทศญี่ปุ่น ผ่านทางระบบออนไลน์ จำนวน 6 วัน
  • ระยะที่ 3 การประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา
  • ระยะที่ 4 การติดตามและประเมินผล โดย สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) จำนวน 2 วัน ซึ่งระยะสุดท้ายนี้ ได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมนำเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนผลการเรียนรู้การใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด จากการนำนวัตกรรมไปใช้ในโรงเรียน/หน่วยงาน

ซึ่งการดำเนินโครงการในครั้งนี้ สนับสนุนนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดทำโครงการวิจัยร่วมในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ สร้างโครงการบริการวิชาการที่ใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) อีกทั้งยังสนับสนุนและส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพระดับโลก รวมถึงการสร้างร่วมมือเพื่อการพัฒนากับหน่วยงานภายในประเทศและระดับนานาชาติอีกด้วย

และจากความสำเร็จที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 3 ปี หน่วยงานความร่วมมือทั้ง 4 ฝ่ายได้เล็งเห็นความสำคัญในการที่จะจัดให้มีโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต่อเนื่องอีก 5 ปี ในระหว่างปีการศึกษา 2564 – 2568

 

ข่าว พีรณัฐ เอี่ยมทอง

Scroll to Top