สกุ๊ปพิเศษ : ทพญ.ณิชาภัทร ปาณัฐโยธิน กับรางวัลบัณฑิตทันตแพทย์ดีเด่นยอดเยี่ยม” ประจำปี พ.ศ. 2566


ทพญ.ณิชาภัทร ปาณัฐโยธิน หรือคุณหมอมิ้นต์ บัณฑิตทันตแพทย์ รุ่นที่ 38 เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2566 กับความสำเร็จในการรับรางวัล “บัณฑิตทันตแพทย์ดีเด่นยอดเยี่ยม” ประจำปี พ.ศ. 2566 จากมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นบัณฑิตทันตแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คนที่ 6 ที่ได้รับรางวัลสูงสุดของบัณฑิตทันตแพทย์ในประเทศไทย ต่อจาก ทพ.กิตติพิชญ์ ศรีสระน้อย ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติยศเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2565 วันนี้เรามารับฟังมุมมองความคิดของคุณหมอมิ้นต์กับบทสัมภาษณ์ความสำเร็จในครั้งนี้

คำถาม : คุณหมอคาดหวังหรือไม่ว่าจะได้รับรางวัลบัณฑิตทันตแพทย์ดีเด่นยอดเยี่ยม
หมอมิ้นต์ : ไม่เคยคาดหวังเลยค่ะ เพราะรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลสูงสุดของบัณฑิตทันตแพทย์ ในแต่ละปีจะมีเพียงหนึ่งคนเท่านั้น ส่วนตัวของมิ้นต์เองแล้ว ตอนไปสัมภาษณ์ก็เตรียมตัวไปตามหน้าที่ค่ะ ผลเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร เพราะเราถือว่าทำเต็มที่แล้ว ไม่มีสิ่งใดให้เสียดายหรือเสียใจในภายหลัง การที่เราไม่คาดหวัง เราจะไม่ผิดหวังค่ะ แต่ก่อน มิ้นต์เคยเป็นคนหนึ่งที่ทำอะไรสักอย่าง จะทุ่มสุดตัวและมีความคาดหวังอยู่พอสมควร แต่พอโตขึ้น เจออะไรมากขึ้น มันทำให้รู้ว่า ไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นไปตามที่เราคาด หรืออะไรที่เราคิดว่าใช่ มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดก็ได้ เช่นนั้นแล้ว การไม่ยึดมั่นถือมั่นทำให้เราไม่ต้องทนทุกข์กับสิ่งไม่เป็นไปตามคิดค่ะ


คำถาม : คุณหมอมีเทคนิคที่ทำให้เรียนอย่างไรให้เก่งจนประสบความสำเร็จ

หมอมิ้นต์ : คำถามนี้ตอบยากนะคะ มิ้นต์ไม่ได้คิดว่าตัวเองเรียนเก่งด้วยซ้ำ แต่ถ้าให้พูดถึงการเรียนในคณะที่ผ่านมา มิ้นต์จะชอบมองว่าสิ่งที่เราเรียนอยู่มีประโยชน์อะไรบ้าง สามารถต่อยอดอะไรได้บ้าง ซึ่งเมื่อตัวเรารู้ว่าเราเรียนเรื่องนี้ไปทำไม มันจะทำให้เราอยากอ่านและสนใจในสิ่งที่เรียนอยู่มากขึ้นนอกจากนั้น การที่รู้เทคนิคการจำของตัวเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เคยอ่านมาว่ามนุษย์เราสามารถจำจากการฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งแต่ละคนนั้นมีความถนัดในการจำที่แตกต่างกัน บางคนอาจจำได้ดีเมื่อฟังเทปซ้ำๆ บางคนอาจจำได้ดีเมื่ออ่านออกเสียง ส่วนนี้ต้องนำไปลองทำดูค่ะ แต่ส่วนตัวมิ้นต์เอง วิธีที่มิ้นต์จำได้ดีที่สุดคืออ่านหรือฟังให้เข้าใจ และมาเขียนสรุปอีกครั้งหนึ่ง บางวิชามีสมุดจดเป็นเล่มๆ เลยค่ะ

คำถาม : คุณหมอมีหลักในการดำเนินชีวิตและการทำงานในวิชาชีพอย่างไร
หมอมิ้นต์ : จริงๆ ใช้หลักหลายอย่างร่วมกันค่ะ ถ้าจะเชื่อมโยงกับหลักทางพุทธศาสนา ก็คงเทียบได้กับอริยสัจ 4 ที่ประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุหทัย นิโรจ และมรรค ทุกข์ คือ การมีอยู่ของทุกข์ สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ นิโรธ คือ ความดับทุกข์ มรรค คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้เท่าทันความคิดของตนเอง และสามารถนำไปสู่หนทางแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องทนทุกข์อยู่นานส่วนการใช้ในวิชาชีพนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราใช้หลักนี้ในทุกวันของการทำงาน ขออนุญาตยกตัวอย่างการปวดฟันให้เห็นภาพมากขึ้นค่ะ ในกรณีนี้ ทุกข์ อาการที่ทำให้มาพบทันตแพทย์ คือ อาการปวดฟัน สมุหทัย สาเหตุของอาการ คือ ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน นิโรธ วิธีการรักษา คือ การถอนฟัน หรือรักษารากฟัน มรรค วิธีการป้องกันในอนาคต คือ การดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี จะเห็นได้ว่าเป็นหลักที่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลายสภานการณ์เลยทีเดียวค่ะ


คำถาม : ในมุมมองของคุณหมอระหว่าง คนเก่ง กับคนดี ควรเลือกอะไร

หมอมิ้นต์ : ตอบยากนะคะ คนเก่งที่นำความเก่งไปใช้ในทางที่ผิด เอาเปรียบผู้อื่น แบบนี้ก็ไม่ดี ส่วนคนดี ถ้าดีแบบปราศจากความรู้ เช่น อยากจะช่วย แต่ช่วยแล้วผลออกมาแย่กว่าเดิมเพราะขาดความรู้ที่ถูกต้อง มันก็ไม่ดี สรุปคือ ไม่อยากเลือกทั้งสองค่ะ แม้ไม่เก่งมาก แต่มีความรู้พื้นฐาน ไม่ต้องดีมาก แต่ก็ไม่แย่เกิน ก็ถือว่าโอเคนะคะ สิ่งเหล่านี้มันอยู่โซนสีเทาๆ เพราะคำว่าเก่ง และดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

คำถาม : สำหรับคุณหมอแล้วครอบครัว มีส่วนสำคัญอย่างไรในการผลักดันคุณหมอจนมาถึงจุดนี้
หมอมิ้นต์ : ครอบครัวคอยช่วยเหลือในหลายด้านค่ะ เป็นที่ปรึกษาที่ดี เวลาเราเจออะไรแย่ๆ ก็คอยรับฟัง คอยชัพพอร์ตเวลาขอไปกิจกรรมต่างๆ เสมอมาค่ะ


คำถาม : ในมุมมองของคุณหมอคิดว่าหน้าที่ของทันตแพทย์ในประเทศไทยควรเป็นอย่างไร

หมอมิ้นต์ : หน้าที่หลักคือการตรวจวินิจฉัยโรคทางช่องปากและฟัน รักษาโรคทางทันตกรรม เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาช่องปาก บูรณะและฟื้นฟูสภาพของอวัยวะในช่องปาก ซึ่งรวมถึงการตรวจรักษารอยโรคในช่องปาก บริเวณขากรรไกรและใบหน้าด้วย ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 ให้ความหมายของ “วิชาชีพทันตกรรม” ว่า เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจการวินิจฉัย การบำบัด หรือการป้องกัน โรคฟัน โรคอวัยวะที่เกี่ยวกับฟัน โรคอวัยวะในช่องปาก โรคขากรรไกรและกระดูกใบหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับขากรรไกร รวมทั้งการกระทำทางศัลยกรรม และการกระทำใดๆ ในการบำบัด บูรณะและฟื้นฟูสภาพของอวัยวะในช่องปาก กระดูกใบหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับขากรรไกรและการทำฟันในช่องปากจะเห็นได้ว่า ทันตแพทย์หรือหมอฟัน ไม่ได้ดูแค่ฟันเพียงอย่างเดียว แต่ยังดูทั้งเหงือก อวัยวะโดยรอบ รวมถึงขากรรไกรและกระดูกที่เกี่ยวข้อง หากจะกล่าวให้เห็นภาพ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปาก เป็นต้น มิ้นต์เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า ทันตแพทย์เป็นหมอช่องปาก หมอฟันไม่ได้ดูแลแค่ฟัน เราดูแลมากกว่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้เข้าใจว่าหมอฟันดูฟันอย่างเดียวอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ

คำถาม : ในโอกาสเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรคุณหมอรู้สึกอย่างไร
หมอมิ้นต์ : รู้สึกดีใจมากๆ ค่ะ ถือเป็นช่วงเวลาที่ได้เจอทั้งอาจารย์ เพื่อน รุ่นน้อง และหลายๆ คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของการเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อย แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งของชีวิต อีกทั้งในปีนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรอีกด้วย ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง

 


คำถามสุดท้าย : อยากให้คุณฝากอะไรกับทันตแพทย์รุ่นน้องทั่วประเทศไทย

หมอมิ้นต์ : พี่เข้าใจว่าชีวิตการเรียนของนักศึกษาทันตแพทย์มันหนักและยากลำบาก โดยเฉพาะจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ พี่ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ชีวิตเราไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีสุข มีทุกข์ปนกันไป ถือเป็นสีสันของชีวิต และไม่มีใครที่ไม่เคยพลาด พี่ก็เคยทำพลาดมาหลายครั้งหลายครา แต่สิ่งเหล่านั้นจะสอนเราให้เราไม่ทำผิดเป็นครั้งที่สอง คนที่ไม่เคยพลาดคือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลยต่างหากค่ะ เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวกับพี่ไว้ คือ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนดีเสมอ ใช่ค่ะ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะดีหรือแย่ เมื่อน้องผ่านมันไปได้ มันจะสอนเราเอง ในวันที่น้องมองกลับไป น้องจะภูมิใจว่าน้องโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นจากเหตุการณ์ในวันนั้น สิ่งที่น้องเจอในวันนั้นเป็นเพียงเสี้ยวของเหตุการณ์ในชีวิตจริงๆ ค่ะ ท้ายที่สุดนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้ว่าที่ทันตแพทย์ทุกคนอีกครั้ง และหากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อมาได้ พี่ยินดีอย่างยิ่งค่ะ


คณะทันตแพทยศาสตร์ ต้องขอขอบคุณคุณหมอมิ้นต์ ทพญ.ณิชาภัทร ปาณัฐโยธิน เป็นอย่างสูงที่เสียสละเวลามาเพื่อให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ ที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคนและยังเป็นการให้กำลังใจแก่น้องๆ ให้อดทน บากบั่นในการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จอีกด้วย และคณะขอแสดงความยินดีกับคุณหมอคนเก่งในโอกาสเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top