มข. ดัน Soft Power ทางวัฒนธรรม มอบนวัตกรรมเครื่องช่วยเหลาตอก ผลักไผ่ตะวัน เครื่องจักรสานสู่สากล

 

    วันที่ 19 กันยายน 2566 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ เทศบาลตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และ วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น จัดกิจกรรมการส่งมอบเครื่องเหลาตอกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ โครงการการพัฒนาและยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ให้กับ กลุ่มจักสาน “ไผ่ตะวัน”  เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์จักสานของกลุ่มจักสานไผ่ตะวันขึ้นชื่อในเรื่องความประณีตสวยงาม มีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน ย้อมจากธรรมชาติ มีเอกลักษณ์เฉพาะ และมียอดขายจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงค์โปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และล่าสุดสวีเดน แต่ปัญหาของกลุ่มคือไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามความต้องการของตลาด เนื่องจากขั้นตอนในการเตรียมตอกประณีตต้องอาศัยช่างฝีมือจักตอกให้มีขนาดที่บางเหมาะสมกับงานสานประณีต และปัจจุบันมีสมาชิกไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิต เพื่อเป็นการส่งเสริมและยกระดับงานหัตถกรรมคุณภาพสู่ระดับสากล

  

น.สพ.ดร.สุวิทย์ อุปสัย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ

         โดย กิจกรรมในช่วงแรก เป็นการแนะนำทักษะเทคนิคและวิธีการใช้เครื่องเหลาตอกด้วยระบบอัตโนมัติ การดูแลรักษา หลังจากนั้นเป็นการสาธิตการใช้เครื่องมือเหลาตอก โดย อาจารย์นรินทร์  สารภักดี อาจารย์ประจำแผนกวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ผู้ปรับปรุงเครื่องต้นแบบร่วมกับนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 และในช่วงที่สอง เป็นการทดสอบประสิทธิภาพและคุณภาพการการผลิตตอกเชิงเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มฝีมือหัตถกรรมจักสานไผ่ตะวัน และ กลุ่มที่ใช้เครื่องมือทุนแรงด้วยเครื่องเหลาตอกอิเล็กทรอนิกส์ร่วมด้วย จากการทดสอบปรากฏว่า การใช้เครื่องเหลาตอกสามารถลดระยะเวลา ลดจำนวนคน และเพิ่มศักยภาพในการผลิตตอกประณีตได้มากกว่า 4 เท่า หลังจากนั้นเข้าสู่พิธีการส่งมอบเครื่องเหลาตอกอิเล็กทรอนิกส์ โดย ประธานในพิธีได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.สุวิทย์ อุปสัย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ เป็นผู้ส่งมอบ และผู้รับมอบโดย นายวราวุฒิ หล้าทุม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลยางคำ  และนายกองมี หมื่นแก้ว ประธานกลุ่มจักสาน “ไผ่ตะวัน” เป็นตัวแทนรับมอบ

          การบริการวิชาการในครั้งนี้ เป็นการจับมือกันบูรณาการองค์ความรู้และแก้ปัญหาด้านการเพิ่มกำลังการผลิตเส้นตอกประณีตและเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มจักสานไผ่ตะวัน ด้วยเครื่องรีดตอกอัตโนมัติ ซึ่งมีคุณสมบัติด้านการลดระยะเวลาการผลิตตอกให้สามารถตอบสนองความต้องการในตลาดโลก และการผนึกกำลังแนวทางการยกระดับงานบริการวิชาการ แบบ CSR สู่ CSV: การสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคม และแก้ไขปัญหาสังคมยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตไปพร้อมๆกัน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          ความแตกต่างจากเครื่องเหลาทั่วไปคือ เครื่องนี้สามารถเหลาได้บางใกล้เคียงจากการเหลาด้วยมือ หากท่านเคยชมผลงานของกลุ่มจักสานไผ่ตะวันจะเห็นได้ว่า ชิ้นงานมีความละเอียดปราณีต มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรงใช้งานได้จริง ทั้งหมดนี้มาจากการใช้ตอกที่มีคุณภาพอ่อนพริ้วสามารถสานได้และต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการเหลาตอกเท่านั้น

เครื่องนี้เป็นเครื่องต้นแบบที่สามารถปรับการเหลาตอกได้บางใกล้เคียงกับการเหลาด้วยมือค่ะ เหมาะสำหรับงานสานปราณีต ท่านประธานกลุ่มบอกว่าใกล้เคียงถึง 98% ค่ะ และปรับได้หลายระดับ อย่างไรก็ตามเครื่องนี้ยังไม่มีวางจำหน่าย และอยู่ในระหว่างการทดลองใช้ของกลุ่มไผ่ตะวัน จากการทดสอบเบื้องต้น ให้ผลที่น่าพึงพอใจมากค่ะ กลุ่มสามารถทำชิ้นงานได้ทันออเดอร์ การต่อยอดครั้งต่อไปผู้พัฒนาจะถอดแบบเครื่องให้เล็กลงและวางจำหน่ายในอนาคต

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

สำนักบริการวิชาการ https://www.facebook.com/OASKKU?comment_id=Y29tbWVudDo3MDU3MzU4MDgyNTYxMTBfMTU0ODczNTY3NjgwODk0

เยี่ยมชมการทำงานของเครื่องได้ที่กลุ่มไผ่ตะวัน ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
facebook : กระติบข้าวเหนียวไผ่ตะวัน Link : https://www.facebook.com/phaitawan?mibextid=LQQJ4d

 

 

ภาพ :
เนื้อหาข่าว : นางเอื้องฟ้า วรรณสิทธิ์ นางเสาวเสาวลักษณ์ ราชำ และ นางสาวกนกวรรณ รัตน์สุวรรณ

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top