รศ.ดร. พรนภา เกษมศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี ได้รับทุนวิจัยในโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 21 ประจำปี 2566 ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากงานวิจัย “ไฮโดรเจลออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สามารถฉีดได้จากการปรับแต่งแป้งที่เป็นของเสียในอุตสาหกรรมสําหรับการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์” เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีฯ เป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นในการผลักดันความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสตรีให้เป็นที่ประจักษ์ และสร้างความตระหนักว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรี เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิต
รศ.ดร. พรนภา เกษมศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี กล่าวว่า โครงการทุนและรางวัล For women in science หรือ FWIS เป็นโครงการการร่วมมือระหว่างมูลนิธิลอรีอัลและองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งเป็นรางวัลทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ที่กลายเป็นใบเบิกทางให้กับนักวิทยาศาสตร์ไทยสู่เวทีระดับโลก ทุนและรางวัล FWIS เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2540 โดยตอนนี้มีนักวิจัยหญิงที่ได้รับการสนับสนุนมากกว่า 3,122 คน จาก 117 ประเทศ ได้รับการสนับสนุน ผู้ได้รับเลือกจะได้รับทุน 250,000 บาทเพื่อนำไปต่อยอดการวิจัย และกลายเป็นนักวิจัย fellowships ของลอรีอัล สำหรับในปีนี้มีผู้ที่ได้รับเลือกให้รับรางวัลจำนวน 4 ท่าน โดยรองศาสตราจารย์ ดร. พรนภา เกษมศิริ อาจาย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลและทุนดังกล่าว ภายใต้หัวข้องานวิจัยเรื่อง ไฮโดรเจลออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สามารถฉีดได้จากการปรับแต่งแป้งที่เป็นของเสียในอุตสาหกรรมสําหรับการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ (Bioactive injectable hydrogels based on modified starch waste for biomedical applications) งานวิจัยที่ได้รับทุนจากทาง FWIS 2023 ในครั้งนี้ เป็นการมุ่งเน้นการนำวัสดุของเสียทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้งานในทางการพัฒนาวัสดุทางการแพทย์ โดยการนำแป้งมันสำปะหลังที่เป็นของเสียในอุตสาหกรรมมาดัดแปรโครงสร้างทางเคมี เพื่อนำมาใช้เป็นไฮโดรเจลออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สามารถฉีดได้ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาบาดแผลและบริเวณบาดแผลเฉพาะจุดที่แผ่นปิดแผลทั่วไปเข้าถึงได้ยาก การพัฒนาวัสดุปิดแผลจากวัตถุดิบตั้งต้นที่มีต้นทุนต่ำและมีเป็นจำนวนมากภายในประเทศเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้แผ่นวัสดุปิดแผลที่มีคุณภาพสูงแต่ยังคงมีราคาต่ำ ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการใช้งานวัสดุเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
“การได้รับรางวัลและทุนวิจัยจาก FWIS ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งค่ะ และขอขอบคุณทางมูลนิธิลอรีอัล ประเทศไทยเป็นอย่างสูงที่เห็นความสำคัญและสนับสนุนการทำวิจัย รางวัลนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความพยายามและความตั้งใจในการทำงาน ซึ่งผลงานวิจัยต่างๆในตลอดระยะการทำงานจะสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้การรับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น แหล่งทุนต่างๆ นักศึกษาที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานด้วยกัน ขอขอบคุณการสนับสนุนจากทุกๆท่าน ที่คอยให้กำลังใจและให้คำแนะนำแนวทางในการแก้ปัญหา ความสำเร็จในครั้งนี้ ดิฉัน ใคร่ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดร. อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการให้คำแนะนำและส่งเสริมดิฉันในการสมัครเพื่อรับรางวัลและทุน FWIS 2023 ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา จินดาประเสริฐ และ รองศาสตราจารย์ ดร. สมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ชี้แนะแนวทางในการทำงานวิจัยรวมถึงการใช้ชีวิตตลอดระยะเวลาการทำงานของดิฉันในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ สุดท้ายนี้ดิฉันขอขอบคุณครอบครัวที่เป็นแรงผลักดันและสนับสนุนให้ทำตามความฝัน ขอบคุณทุกๆท่านมากๆนะคะ” รศ.ดร. พรนภา เกษมศิริ กล่าวความรู้สึก