________วันที่ 19 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 6 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ. นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยถึงสถานการณ์ปัจจุบันภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังการเป็นประธานในที่ประชุมณะกรรมการอำนวยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (covid-19) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 2/2565 จากการวางมาตรการในการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ให้กับนักศึกษา และบุคลากร อย่างเข้มข้น
________รศ. นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวว่า “จากการติดตามสถานการณ์การฉีดวัคซีน ขณะนี้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้ย้ายสถานที่ฉีดวัคซีนจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล ไปที่หน้าห้องบรรยาย อาคารเรียนรวม ชั้น 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 1,500 คน โดยให้บริการฉีดให้แก่ประชาชนทั่วไป นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยเป็นไปตามสัดส่วนโปรแกรมการฉีดวัคซีนที่ทางจังหวัดขอนแก่นได้จัดสรรวัคซีนมาให้ ซึ่งในช่วงนี้จะมีวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นหลัก และในเดือนกุมภาพันธ์อาจจะมีแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) มาเพิ่มอีกด้วย”
________“ทั้งนี้ ในการฉีดวัคซีนของบุคลากรและนักศึกษา พบว่านักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ฉีดวัคซีนเข็มที่สองไปแล้วถึง 98 % โดยมีการทยอยนัดฉีดวัคซีนเข็มที่สามเรื่อย ๆ เช่นกัน นับว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นประสบความสำเร็จในอัตราการฉีดวัคซีนของนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเปอร์เซ็นที่สูงมาก”
________รศ. นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวต่อไปว่า “จากการวิเคราะห์สถานการณ์ของการระบาดของโรคระบาดโควิด-19 จากข้อมูลทั้งจากจังหวัดขอนแก่น ข้อมูลของทั่วประเทศ และข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่า โอไมครอน (Omicron) นั้น สามารถติดเชื้อได้ง่าย และรวดเร็วอย่างชัดเจน แต่มีอาการไม่รุนแรง เพราะฉะนั้นแนวโน้มจึงค่อนไปในทิศทางเน้นการฉีดวัคซีนเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันอัตราการเสียชีวิต ส่วนการใช้ชีวิตทั่วไป คงจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น โดยทุกคนจะยังคงใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือ และอาจจะมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เช่น การเรียนการสอนแบบออนไซต์ (Onsite) ซึ่งหากว่าสถาบันหรือคณะต่าง ๆ ต้องการจัดการเรียนการสอน ในเดือนกุมภาพันธ์ที่กำลังจะถึง อาจจะสามารถกลับมาเรียนออนไซต์ได้เป็นปกติ หรือหากมองว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างกลางเทอม ซึ่งใกล้ปิดเทอมภาคปลายแล้ว ก็อาจจะดำเนินการเปิดการเรียนการสอน Onsite ในเทอมหน้า หรือในภาคฤดูร้อน ซึ่งคงจะสามารถจัดการการเรียนการสอนแบบออนไซต์ได้อย่างจริงจัง”
________รศ. นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ได้แสดงความห่วงใยมายังนักศึกษา และบุคลากรว่า “ด้วยแนวโน้มของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ในปัจจุบันค่อนข้างจะมีทิศทางที่ไม่รุนแรงมากนัก และการใช้ชีวิต รวมไปถึงมาตรการต่าง ๆ ของประเทศไทย แม้จะมีการผ่อนคลายมากขึ้น แต่ขอให้นักศึกษา และบุคลากรไม่ประมาทในการใช้ชีวิต โดยต้องฉีดวัคซีนให้ครบ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต แม้วัคซีนจะไม่ได้ป้องกันการติดโรค แต่สามารถป้องกันการสียชีวิตได้ และยังใช้มาตรการในการป้องกันตนเองเช่นเดิม นั่นคือการใส่หน้ากาก การล้างมือ การรักษาระยะห่าง รวมทั้งการงดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงด้วย”
ข่าว /ภาพ : มัลลิกา นาคเล็ก นักศึกษาปฏิบัติสหกิจศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์