มหาวิทยาลัยขอนแก่นเฟ้นบุคคลและองค์กรเพื่อมอบกาลพฤกษ์ทองคำให้เป็นแบบอย่างการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคม

        จากการประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 16/2564 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ได้มีมติคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลกาลพฤกษ์ทองคำ ประจำปี 2564 จำนวน 2 รางวัลคือ ประเภทบุคคล จำนวน 2 คน คือ คุณ สุกิจ ศิรินรกุล และ คุณมิตรชัย อานันทนสกุล ประเภทนิติบุคคลหรือองค์กร คือ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินนโยบายในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรที่ประพฤติตนและมีผลการปฏิบัติงานที่โดดเด่น ตลอดทั้งยกย่องบุคคลหรือนิติบุคคลและองค์กรที่ได้ทำประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยและสังคม โดยมีการพิจารณาคัดเลือกเป็นประจำทุกปี

คุณสุกิจ ศิรินรกุล
รางวัลกาลพฤกษ์ทองคำประจำปี พ.ศ. 2564

        คุณสุกิจ ศิรินรกุล สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร GS SUPPLY Co. Ltd. และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยขอนแก่น และอดีตอุปนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น หลายสมัย กรรมการพลังงาน สภาหอการค้าไทยที่ปรึกษาด้านพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ปรึกษากลุ่ม UFAM GROUP และอนุกรรมาธิการคมนาคมทางบก มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอุตสาหการ โดยได้ริเริ่มสร้างสรรค์ต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมนำไปสู่บันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่ โคกหนองนาโมเดล ระหว่างคณะะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กรมการพัฒนาชนบท และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มข. ยังได้อุทิศตนในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสังคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีบทบาทที่สำคัญ ๆ หลายกิจกรรม ดังเช่น การดำเนินการด้านคุณธรรมจริยธรรมตามหลักพุทธศาสนาได้ริเริ่มจัดอบรมกรรมฐานให้กับผู้สูงวัย เป็นประธานคณะกรรมการจัดหาทุนก่อสร้างอาคาร 50 ปี วิศวรวมใจ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถระดมทุน และจัดหารายได้จำนวน 350 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2556-2559 และได้บริจาคเงินส่วนตัวร่วมก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ซึ่งเป็นประโยชน์กับคณะในการใช้ในการเรียนการสอน เป็นประธานเครือข่ายวิศวฯ มอดินแดงต้านภัยโควิด-19 ในปี 2563 และ 2564 โดยจัดหาชุด PPE และอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ จำนวน 83 แห่งเป็นโรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 59 แห่ง มีมูลค่าอุปกรณ์ที่บริจาคเป็นเงินจำนวน 1,763,611.36 บาท จัดการระดมทุนจากทุกภาคส่วนรวมทั้งทุนทรัพย์ส่วนตัว เพื่อมอบสนับสนุนการก่อสร้างอาคาร ศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท เพื่อประโยชน์ต่อสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

คุณมิตรชัย อานันทนสกุล
รางวัลกาลพฤกษ์ทองคำประจำปี พ.ศ. 2564

        คุณมิตรชัย อานันทนสกุล สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารทรัพยากรป่าไม้ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำรงตำแหน่งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรป่าไม้การบริหารจัดการ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุมานะบากบั่น อดทน และเสียสละอย่างสูงจนบังเกิดผลสัมฤทธิ์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างสูง โดยได้บริหารจัดการในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด โดยได้วางระบบ กลไกการดำเนินการในการปกป้องคุ้มครอง รักษา และดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกตัดไม้ทำลายป่าอย่างเคร่งครัดเป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ยังเป็นบุคคลที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่นและหน่วยงานต่างๆ ในการให้พันธุ์ไม้ในการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ ในขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธรา – หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติสึนามิในพื้นที่รับผิดชอบ และพื้นที่/ใกล้เคียงจนประสบความสำเร็จอย่างสูง และได้ปรับปรุง ฟื้นฟู ซ่อมแซมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ นอกจากนี้ในฐานะที่รับผิดชอบด้านป่าไม้ได้มอบไม้สักทอง ไม้ประดู่ และไม้แดง ขนาดต่าง ๆ จำนวน 17 รายการ ให้กับกรมศิลปากร เพื่อนำไปซ่อมแซมบูรณะราชรถพระนำ และราชรถเชิญพระโกศพระศพ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และได้ร่วมปฏิบัติงานจิตอาสาจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร และจัดทำดาวเพดานพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย จนได้รับประกาศเกียรติคุณจากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากกรมศิลปากรในฐานะผู้มีจิตอาสาร่วมปฏิบัติงานจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณะปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ


        มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดตั้งขึ้นโดยมีวิสัยทัศน์ ในการในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต้นแบบและพื้นที่ขยายผลให้มีสัมมาชีพ มีรายได้ มีชีวิตที่พอเพียงและยั่งยืน ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำการพัฒนาตามแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และบริบทที่เปลี่ยนแปลง มีปณิธานในการน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร พระบิดาแห่งการเกษตรไทยไปประยุกต์ใช้กับชุมชนเกษตรทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนซึ่งจะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ พันธกิจเน้นการจัดการความรู้และการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นระบบกว้างขวาง จนกระทั้งเป็นแนวทางการพัฒนาหลักของประเทศ มีเป้าหมายให้ประชาชนพึ่งแนวทางการพัฒนา เริ่มตั้งแต่ครัวเรือนพึ่งพาตนเอง ชุมชนรวมกลุ่มพึ่งตนเองได้ และเชื่อมโยงชุมชนออกสู่ภายนอก โดยกระบวนการและวิธีการทำงานอาศัยยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เริ่มจากการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบสำหรับเป็นพื้นที่ปฏิบัติงาน นำหลักการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริมาปรับใช้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในลักษณะของห้องปฏิบัติการทางสังคม ห้องทดลองการแก้ปัญหาและการพัฒนาหมู่บ้าน โดยร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษาเกษตรกร และประชาชน และจัดการความรู้และนำแบบแผนการพัฒนาไปขยายผลและใช้เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ ผลการดำเนินงานมูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานโดยมีพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ 9 จังหวัด 97 หมู่บ้านครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยการดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบจะมีการบริหารจัดการตามสภาพพื้นที่จนเกิดผลสำเร็จ และมีการขยายผลการดำเนินการในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายของมูลนิธิฯ ทั้งทางด้านการจัดการเรียนรู้ การเผยแพร่แนวพระราชดำริ การสร้างรูปแบบแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่และขยายผลการพัฒนาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานและผลการพัฒนาที่ส่งผลโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย
         

ข่าว – อุดมชัย สุพรรณวงศ์
ข้อมูลข่าว – กองทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top