มข. บรรยายพิเศษทิศทางและความท้าทายงานวิจัยของมหาวิทยาลัย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นนักวิจัย มข. มีศักยภาพสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และกองบริหารงานวิจัย จัดการสัมมนาและบรรยายพิเศษ “ทิศทางงานวิจัยของประเทศ : งานวิจัยที่ท้าทายของมหาวิทยาลัย” ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาและบรรยายพิเศษ พร้อมด้วย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นเกียรติในการสัมมนาและบรรยายพิเศษ ร่วมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเข้าร่วม โดยมี ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติในการบรรยายพิเศษ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมพีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีงานวิจัยมากมาย ซึ่งการต่อยอดและพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปสู่การสร้างสรรค์โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ โครงการแก้จน โครงการทางด้านสุขภาพ เช่น โครงการเกี่ยวกับมะเร็งท่อน้ำดี โครงการเกี่ยวโรคไตวายเรื้อรัง โครงการด้านการศึกษา เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ โครงการ Smart Learning รวมถึงโครงการที่มีการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการพัฒนาภูมิภาค สู่การเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยอาศัยการวิจัย ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนโดยใช้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสัมมนาและบรรยายพิเศษ “ทิศทางงานวิจัยของประเทศ : งานวิจัยที่ท้าทายของมหาวิทยาลัย” เป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายให้นักวิจัยเกิดแนวคิดและนำไปต่อยอดและวางแผนในการสร้างงานวิจัยต่อไป เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และถ่ายทอดสู่สังคม เพื่อให้มีความกินดีอยู่ดี เป็นการพัฒนาสังคมและประเทศ เป็นการสร้างแนวคิดและแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการวิจัย พร้อมการร่วมมือระหว่างนักวิจัยต่อไป

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทิศทางงานวิจัยของประเทศ และงานวิจัยที่ท้าทายของมหาวิทยาลัย โดยแนวทางในการวิจัยมีการมุ่งเน้นเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของการวิจัยในปัจจุบัน และงานวิจัยสามารถนำไปใช้งานและปฏิบัติได้จริง เกิดผลที่ดีของสังคมและประเทศ ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงบูรณาการ โดยใช้ทุกศาสตร์ที่สามารถนำไปแก้ปัญหาได้ รวมถึงสร้างระบบบริหารที่เน้นผลสัมฤทธิ์ในการแก้ปัญหา มีงบประมาณที่เหมาะสมกับงาวิจัย ที่สำคัญทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามามีร่วมในการวิจัย รวมถึงการนำผลการวิจัยประยุกต์ใช้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จริง โดยร่วมมือกับคนในชุมชนและพาชาวบ้านทำจนเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย จากนั้นขยายผลจากการประยุกต์ใช้วิจัยกับพื้นที่อื่น ๆ และสามารนำไปปฏิบัติซ้ำและเกิดผลสำเร็จที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งการนำผลวิจัยไปใช้ในหลากหลายบริบทและสภาพแวดล้อมโดยการประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งหลักใหญ่ของการวิจัยเป็นการสร้างคุณค่าและมูลค่า ควรทำให้เกิดผลอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด โดยอาศัยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาถึงนวัตกรรม เครื่องจักร เครื่องมือเพื่อการผลิต แปรรูป สู่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ โดยเน้นการวิจัยที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในสังคม พร้อมกกับการลดรายจ่ายของคนในสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวทางการวิจัยที่นำไปสู่การสร้างรายได้ของประเทศได้แก่ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงพื้นที่ใหม่ของการสร้างรายได้คือผลผลิตที่ได้จากอาหาร และสารสกัดที่ได้จากอาหาร เช่น สารสกัดกรดอะมิโนจากจิ้งหรีด สารสกัดจากเห็ด และพืชสมุนไพร สารสกัดแซนทีนจากเปลือกมังคุด ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างผลผลิตในด้านการส่งเสริมสุขภาพถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมในการสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการสกัดสารต่าง ๆ จากพืช แมลง และสมุนไพร ซึ่งสอดคล้องกับความเข็มแข็งตามยุทธศาสตร์ของไทย 3 ด้าน ได้แก่ อาหาร สุขภาพ และการท่องเที่ยว โดยเชื่อมั่นว่านักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีศักยภาพในการสร้างงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและสังคม ซึ่งสามารถนำผลงานการวิจัยต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนำไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีจุดเด่นในเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งนี้ความท้าทายของมหาวิทยาลัยในการสร้างงานวิจัยคือการต่อยอดจากผลความสำเร็จที่ผ่านมา สู่ความสำเร็จใหม่ที่ขยายวงกว้างยิ่งกว่าเดิม และสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ และต่อยอดงานวิจัยขยายผลให้ลงลึกยิ่งกว่าเดิมโดยบูรณาการและเชื่อมโยงศาสตร์และองค์ความรู้ รวมทั้งการทำให้รวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม

ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวว่า การสัมมนาและบรรยายพิเศษ “ทิศทางงานวิจัยของประเทศ : งานวิจัยที่ท้าทายของมหาวิทยาลัย” ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่างานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ใช่มุ่งเน้นในเรื่องของการผลิตผลงานเพื่อตีพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องถึงการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจชุมชน การสร้างกินดีอยู่ดีให้กับชุมชน การแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ล้วนใช้ความรู้ทางด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์เชิงลึก ผสมผสานกับงานด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์และผักดันให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ในสังคมปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง ซึ่งมีผู้ที่อยู่ยอดพีระมิดของสังคมล้วนมีความเข็มแข็งอยู่แล้ว แต่ควรเน้นไปที่สังคมและผู้คนระดับกลาง มุ่งเน้นไปที่ SME และธุรกิจใหม่ที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มหาวิทยาลัยขอนแก่นเล็งเห็นและจะร่วมดูแลบางส่วน รวมถึงกลุ่มเกษตรกรซึ่งมีมากที่สุด และกลุ่มผู้ว่างงานจากปัญหาโควิด-19 ในการสร้างอาชีพใหม่ที่มีมูลค่าสูงและมีเรื่องราว ที่สำคัญคือการวิจัยเกี่ยวกับเกษตรและอาหารซึ่งจะต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การปลูกผักหรือเลี้ยงไก่เพื่อนำไปสกัดสารสำคัญที่ได้จากผลผลิตต่าง ๆ โดยสร้างระบบกระบวนผลิต กระบวนตรวจสอบทางด้านวิทยาศาสตร์ และการเชื่อมโยงไปสู่อาหาร สุขภาพ และการท่องเที่ยว ซึ่งอาหารเป็นเรื่องราวพื้นฐานของกลุ่มเกษตรกรจะทำให้มีรายได้และเกิดอาชีพเพิ่มขึ้น ในเรื่องของสุขภาพสามารถมองถึงอาหารที่รับประทานสุดท้ายจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยเฉพาะโรคในปัจจุบันเป็นโรคที่ไม่เกี่ยวกับเชื้อโรค เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์พื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดในเรื่องความหลาหลายของภาคอีสาน หากมีการค้นหาสาระสำคัญจากสัตว์และพืชได้ และนำไปช่วยในเรื่องสุขภาพ จะส่งผลไปสู่การท่องเที่ยวในภาคอีสานเพื่อมาบริโภคและใช้สารสำคัญจากผลผลิตทางการเกษตรจากภาคอีสาน ก็จะเกิดการกระจายรายได้ เมื่อเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน จะเป็นศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า Gastronomy Tourism ต่อไป

ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา เพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนโยบายในการสนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบ Research Program ซึ่งเป็นการทำงานที่อาศัยการบูรณาการการวิจัยจากหลายศาสตร์เข้ามาทำงานร่วมกัน จะตรงตามนโยบาย Research Transformation ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เน้นการทำงานร่วมระหว่างกลุ่มวิจัย จะมีส่วนในการได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใต้ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา จากนั้นเป็นการติดตามเป้าหมายและผลลัพธ์เพื่อนำไปสู่การสร้างผลผลิตด้านอาหาร รวมถึงต่อยอดสู่การแพทย์ และการพัฒนานวัตกรรมอย่างเหมาะสม มหาวิทยาลัยขอนแก่นเน้นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในแต่พื้นที่ สอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการเป็นมหาวิทยาลัยที่อุทิศเพื่อชุมชนและสังคม ดังนั้นงานวิจัยจึงมีหลากหลายส่วน ทั้งงานวิจัยเชิงลึก สร้างองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก ในขณะเดียวกันก็ต้องเน้นการทำงานวิจัยเพื่อชุมชน เป็นการสร้างมูลค่าให้กับสังคม

สำหรับการสัมมนาและบรรยายพิเศษ “ทิศทางงานวิจัยของประเทศ : งานวิจัยที่ท้าทายของมหาวิทยาลัย” เป็นส่วนหนึ่งการนำวิสัยทัศน์ของมหาวิทาลัยขอนแก่นในการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารงานร่วมกันรวมทั้งการปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัย (Research Transformation) เพื่อการเพิ่มจำนวนนักวิจัยสู่การส่งเสริมให้เกิดโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ทำงานเป็นทีมและทำงานต่อเนื่อง (Research Program) และผลักดันงานวิจัยสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการทำงานวิจัยของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากแหล่งทุนต่าง ๆ และผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และพัฒนาสังคมและชุมชนต่อไป

 

KKU and special talks on research direction and challenges – building confidence among KKU researchers to create innovations for national development
https://www.kku.ac.th/7818

ข่าว/ภาพ ณัฐวุฒิ จารุวงศ์

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top