ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มข. วางแผนดัน “สาวะถีโมเดล” ปรับโฉม 10 ผลิตภัณฑ์เด่นชุมชน ด้วยแนวคิดรากสู่โลก

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563  ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรมและจัดนิทรรศการโชว์ผลงาน โครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเทศบาลตำบลสาวะถี” โดยมี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ  รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน ดร.ลัดดาวัลย์  สีพาชัย  ผู้อำนวยการศูนย์ศิปลวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน ในการนี้มีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ ชาวชุมชนที่เข้าร่วมโครงการร่วมกิจกรรมกว่า 60 คน ณ ห้องประชุมคุ้มสีฐาน ศูนย์วัฒนธรรม ม.ขอนแก่น

ดร.ลัดดาวัลย์  สีพาชัย  ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากประเด็นยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อที่ 11 ด้านการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้จัดโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเทศบาลตำบลสาวะถี” ขึ้นเพื่อให้ชุมชนเทศบาลตำบลสาวะถี ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ฝึกปฏิบัติการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม และ เป็นการให้บริการวิชาการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้แก่ชุมชน เพื่อให้ได้ชิ้นงาน ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม อันจะนำไปสู่ความรักความผูกพันที่มีต่อชุมชน

ดร.ลัดดาวัลย์ สีพาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“โครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเทศบาลตำบลสาวะถี” มีชาวชุมชนเทศบาลตำบลสาวะถี เข้าร่วมโครงการ 40 คน มีผลิตภัณฑ์ในโครงการ 10 ชนิด ได้แก่ ข้าวเกรียบ ข้าวฮางอก น้ำฝรั่ง ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ดอกไม้จันทน์ พรมเช็ดเท้า สมุนไพร จักสาน แจ่วบอง และปลาส้ม กำหนดจัด ในวันที่ 5, 17 สิงหาคม และ 10 กันยายน 2563”

รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ  รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เทศบาลตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นเป็นชุมชนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้เป็นศูนย์ฝึกประสบการณ์ให้กับนักศึกษาอยู่บ่อยครั้ง ขณะเดียวกันชุมชนก็ให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ ด้วยดีเสมอมา ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้บริหารด้านศิลปวัฒนธรรม จึงตั้งปณิธานที่จะช่วยเหลือ ผลักดันให้ชุมชนพัฒนาเช่นเดียวกัน

“ความเป็นชุมชนประกอบด้วย บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งวัดไชยศรี บ้านสาวะถีมีฮูปแต้มดังไปทั่วโลก  มีผู้มาศึกษาดูงานจากทั่วทุกสารทิศ เมื่อวัดเป็นที่รู้จักเราจึงหันมาดูที่ชุมชน ชาวบ้านมีอะไรดีบ้าง ผมเชื่อว่ารากปัญญาของอีสานมีเต็มไปหมด มีขนม หัตถกรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน  เราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เป็นของดีชุมชนได้เป็นที่รู้จัก ฉะนั้นเราต้องยกรากวัฒนธรรมของบ้านสาวะถีทุกอย่างที่เราสามารถทำได้ไปสู่โลก ต่อไปนี้เราจะสร้างสาวะถีโมเดลของ KKU ให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบความร่วมมือระหว่าง ชาวบ้านชุมชนกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลิตภัณฑ์ ผลงานที่พี่น้องนำมาโชว์ในวันนี้เป็นที่ประจักษ์น่าชื่นชม  และมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะสนับสนุน ช่วยขยับให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ค่อยๆก้าวตามศักยภาพที่เรามี ผมเชื่อการพัฒนาจะไม่หยุดเพียงเท่านี้  จะผลักดันเต็มที่จนกว่าสาวะถีโมเดลจะ สะท้อนคำว่ารากสู่โลก เป็นต้นแบบการทำงานกับชุมชนอื่นต่อไป” รศ.ดร.นิยม กล่าว

อ.อภิญญา อาษาราช รองผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อ.อภิญญา อาษาราช รองผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเราได้เลือกชุมชนเทศบาลตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นเพราะว่ามีทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญา ต่อจากนั้นจึงไปประสานกับเทศบาล ซึ่งชุมชนได้ให้ความร่วมมือในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นแต่ยังไม่ได้ยกระดับ

“เราได้นำทีมอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบ มาช่วยเป็นวิทยากร และ ลงพื้นที่ การลงพื้นที่แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเป็นการเก็บข้อมูลกับกลุ่มแม่บ้าน ที่เทศบาลคัดเลือกมา 10 กลุ่ม มาระดมความคิดว่า กลุ่มทำอะไร ต้องการอะไร โดยในการออกแบบจะออกแบบตามศักยภาพของกลุ่มเพื่อที่ชาวบ้านจะสามารถนำไปต่อยอด หากทำเกินศักยภาพบางทีชาวบ้านจะไม่สามารถพัฒนาต่อได้ ระยะที่ 2 ในการลงชุมชนเป็นการร่างแบบ  ออกแบบ และ ปรับแบบกับกลุ่ม เพื่อที่ทางกลุ่มจะได้ดูว่า หรือสิ่งที่ระดมความคิดกันในรอบแรก ใช้ได้หรือไม่ สามารถนำไปผลิตเป็นต้นแบบได้หรือไม่  ในขั้นตอนนี้มีกระบวนการตั้งแต่เก็บข้อมูล ระดมความคิด ออกแบบตั้งแต่แบบร่าง จนไปถึงกระบวนการผลิตต้นแบบ  และ ระยะที่ 3 คือวันนี้ เป็นการผลิตต้นแบบ นำมาจัดนิทรรศการ เพื่อให้ชาวบ้านมาดูว่าสิ่งที่ทำร่วมกัน กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเกิดผลเป็นอย่างไร ซึ่งผลตอบรับจากเทศบาลประทับใจและ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี การทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี  หลังจากวันนี้เมื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนได้แนวคิดแบรนด์และชื่อทางการตลาดแล้ว กระบวนการต่อไปจะเป็นการพัฒนาด้านการตลาด และพิจารณาศักยภาพของชุมชนว่าสามารถทำอะไรในขั้นต่อไปได้ และจะไปพัฒนาในขั้นตอนถัดไป ” รองผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

 

Scroll to Top