เมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ร่วมกับ มูลนิธิพุทธรักษา ศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา และมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด จัดงานสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาและการอบรมเชิงปฏิบัติการศึกษานิเทศก์ ภายใต้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Thailand Lesson Study incorporated with Open Approach: TLSOA) ณ ห้องประชุม 2301 สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน อาคาร 2
ซึ่งงานนี้ ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนฯ อีกทั้งยังมีคณะศึกษานิเทศก์ผู้ร่วมขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมฯ พร้อมด้วยคณะครูผู้ใช้นวัตกรรมฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิชาชีพและสร้างเครือข่ายสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งพัฒนาโรงเรียนในโครงการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (TLSOA)
โดยในเวลา 08.45 น. รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน รวมถึงได้ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นวัตกรรมทางการศึกษาของสถาบัน กับ Societal Contributions ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูที่ใช้นวัตกรรมฯ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่เดินทางมาเข้าร่วมการสัมมนา ณ อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และผู้เข้าร่วมงานจากทางออนไลน์ รวมกว่า 400 คน
และกิจกรรมภายในงาน ประกอบไปด้วย การบรรยายพิเศษและการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสานต่อการใช้นวัตกรรมฯ และความร่วมมือการพัฒนาวิชาชีพครู การสร้างเครือข่ายและการพัฒนาโรงเรียนในมิติต่าง ๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
- บรรยายพิเศษ เรื่อง 20 ปี การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กรรมการสภาสถาบันพระบรมราชชนก และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- บรรยายพิเศษ เรื่อง นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Thailand Lesson Study incorporated with Open Approach: TLSOA) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- บรรยายพิเศษ เรื่อง Turning point of Japanese Lesson Study in the 21st Century โดย Prof. Yutaka Ohara Department of Education, Gakushuin University, Japan แปลโดย อ.อรรค อินทร์ประสิทธิ์
ส่วนในช่วงบ่าย สถาบันฯ ได้จัดกิจกรรมคู่ขนานในการอบรมถ่ายทอดเทคนิคและความรู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูที่ใช้นวัตกรรม TLSOA จำนวน 2 ห้อง ประกอบด้วย
- การอบรมเชิงปฏิบัติการของศึกษานิเทศก์
- อบรมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับเทคนิคทักษะที่จำเป็นสำหรับศึกษานิเทศก์ ผ่านการวิเคราะห์วีดิทัศน์ชั้นเรียน โดย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์
- การเสวนา เรื่อง บทบาทของศึกษานิเทศก์ ในการขับเคลื่อน TLSOA ผู้ร่วมเสวนา 1) ศน.พรพิมล ทักษวรบุตร 2) ศน.สุดสงวน กลางการ 3) ศน.กีรติ ชาดาเม็ก และ 4) ศน.วิชดารัชต์ วงศ์สะอาด ดำเนินรายการโดย รศ.จุมพล ราชวิจิตร, อาจารย์พวงทอง พูลเรือง และดร.สันติ บรรเลง
- เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันสำหรับศึกษานิเทศก์ โดย รศ.จุมพล ราชวิจิตร, อาจารย์พวงทอง พูลเรือง, ศน.พรพิมล ทักษวรบุตร, ศน.สุดสงวน กลางการ และ ดร.สันติ บรรเลง
- การอบรมเชิงปฏิบัติการของผู้บริหารสถานศึกษา
- อบรมเชิงปฏิบัติการ School Management การพัฒนาชั้นเรียนผ่านระบบ KOHNAI KENSHU โดย Prof. Akira Mitamura ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟุกุอิ แปลโดย อ.อรรค อินทร์ประสิทธิ์
- การประชุมชมรมผู้บริหารสถานศึกษาและกำหนดแผนการดำเนินงาน โดย ชมรมผู้บริหารโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิดl
โดยในปีนี้ ผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายยังได้ร่วมจัดงานมุทิตาจิตแก่ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และครูผู้เกษียณอายุราชการที่ได้ร่วมสานต่อการดำเนินงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. ได้เดินทางมาร่วมงานและกล่าวมุทิตาจิตและให้โอวาทแก่ผู้เกษียณอายุราชการ
ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อสร้างเครือข่ายและร่วมขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนฯ TLSOA และพัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งในการพัฒนาวิชาชีพครู อีกทั้งยังสนับสนุนยุทธศาสตร์สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน เพื่อเป็นการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และสนับสนุนเรื่องการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDG4)
ข่าว พีรณัฐ เอี่ยมทอง