คณะวิทย์ฯ รุดหน้าต่อเนื่อง เติมทักษะทางวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนในภาคอีสาน

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังคงรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง เดินเครื่องเต็มกำลัง ในด้านการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่นักเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ได้ จัดการอบรมแก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเขวาไร่ศึกษา จ.มหาสารคาม พร้อมคณะครูจำนวน 35  คน เข้ารับการอบรมใน  2  สาขาวิชาได้แก่ สาขาวิชาเคมี ในหัวข้อ “การไทเทรตกรด-เบส และการเตรียมสารละลายเบสมาตรฐาน” ณ ห้อง 8606 อาคารเรียนรวมและปฏิบัติการ Sc.08  และ สาขาวิชาชีวเคมี ในหัวข้อ  “การสกัดพลาสมิด ดีเอ็นเอ (Plasmid DNA) จากแบคทีเรีย และการวิเคราะห์และแยกขนาดของพลาสมิดดีเอ็นเอ ด้วยเทคนิคอะกาโรสเจลวิธีเจลอิเล็กโตรโฟเรซิส” ณ ห้อง 7326 ชั้น 3 อาคาร Sc.07

วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น พร้อมคณะครูจำนวน 70  คน  โดยอบรมเชิงปฏิบัติการใน  2 สาขาวิชาได้แก่ สาขาวิชาเคมี ในหัวข้อ “การไทเทรตกรด-เบส และการเตรียมสารละลายเบสมาตรฐาน” และ “การสกัดเพื่อแยกสารอินทรีย์โดยใช้สมบัติกรดเบส” ณ ห้อง 8806 และห้อง 8808 และสาขาวิทยาศาสตร์บูรณาการในหัวข้อ  “การปฏิบัติการทางดีเอนเอ” เป็นการบรรยายความรู้พื้นฐานและทำปฏิบัติการเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอด้วยเทคนิคพีซีอาร์ เน้นให้นักเรียนได้ใช้เครื่องมือไมโครปิเปต ทดลองสกัดดีเอ็นเอจากตัวอย่างทางนิติวิทยาศาสตร์เช่นเส้นผม เลือด หรือขี้ไคลเป็นต้น และวิเคราะห์ผลผลิตที่ได้ด้วยแผ่นเจลภายใต้สนามไฟฟ้า นักเรียนเห็นการแยกขนาดของดีเอ็นเอภายใต้แสงยูวี ช่วงท้ายของกิจกรรมนักเรียนได้สนุกกับการทำแบบทดสอบรูปแบบใหม่ที่สนุกผ่านโปรแกรม quizizz และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการทำแบบทดสอบ ณ ห้อง 8305  อาคารเรียนรวมและปฏิบัติการ Sc.08

วันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนแวงใหญ่วิทยาคม จ.มหาสารคาม พร้อมคณะครูจำนวน 95 คน เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์  3  สาขาวิชาได้แก่ สาขาวิชาเคมี ในหัวข้อ “ปริมาณสัมพันธ์” และ “การไทเทรตกรด-เบส และการเตรียมสารละลายเบสมาตรฐาน” ซึ่งปฏิบัติการนี้นักเรียนได้ทำการตรียมสารละลายเบสด้วยตนเอง จากนั้นไทเทรตหาความเข้มข้นที่แน่นอนของสารละลายเบสที่เตรียมได้ และนำสารละลายเบสที่เตรียมได้ไปไทเทรตกับสารละลายตัวอย่างน้ำส้มสายชูเจือจาง จึงสามารถคำนวณหาความเข้มข้นของกรดแอซิติกในตัวอย่างน้ำส้มสายชูซึ่งเป็นตัวอย่างที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันได้ ในการทำปฏิบัติการนี้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะการชั่งสารแบบผลต่าง การปิเปตสารละลาย การไทเทรตกรด-เบส และการเจือจางสารละลายตัวอย่างน้ำส้มสายชู ณ ห้อง 8606 , 8608 สาขาวิชาฟิสิกส์ ในหัวข้อ “ลูกตุ้มนาฬิกาอย่างง่าย” และ “การใช้ออสซิลโลสโคป”  ณ ห้อง 8204 อาคารเรียนรวมและปฏิบัติการ Sc.08 สาขาวิชาชีววิทยา ในหัวข้อ “ความหลากหลายของแพลงกตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์”  ณ ห้อง 3110 อาคาร Sc.07

คณะนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ   พร้อมคณะครูจำนวน 60 คน  เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์  3 สาขาวิชาได้แก่ สาขาวิชาฟิสิกส์  ในหัวข้อ  “การสั่นของคลื่นในเส้นเชือก” “การวัดความหนืดของของเหลว” ณ ห้อง 8204 8205  สาขาวิชาเคมี ในหัวข้อ “การหาค่าคงที่สมดุลเคมี” ณ ห้อง 8606 8608 สาขาวิชาชีววิทยา  ในหัวข้อ “การใช้กล้องจุลทรรศน์และเซลส์ของสิ่งมีชีวิต” ณ ห้อง 8321  อาคารเรียนรวมและปฏิบัติการ Sc.08

ดญ.ธนพร ทับปัดชา หรือ “น้องแพท” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเขวาไร่ศึกษา จ.มหาสารคาม  กล่าวว่า “รู้สึกตื่นเต้นละรู้สึกดีใจที่ได้เข้ามาเรียนปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมากๆ เพราะไม่เคยมาที่นี่มาก่อน ซึ่งทางโรงเรียนเขวาไร่ศึกษา ได้จัดโครงการและตนได้สนใจและสมัครเข้าร่วมในการเข้ามาเรียนในครั้งนี้  ได้เห็น ได้ลงมือทำการทดลองปฏิบัติการจริงกับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ได้รับประสบการณ์ภายนอกชั้นเรียน หนูรู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้มาในวันนี้ และถ้าโรงเรียนจัดกิจกรรมแบบนี้อีกก็จะลงชื่อมาร่วมอีกค่ะ”

Scroll to Top