สถาบันวิจัยฯ ครูอาเซียน ร่วมส่งเสริมการสร้างความตระหนักและความเข้าใจร่วมเกี่ยวกับบทบาทใหม่ของโรงเรียนในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ผ่านบทเรียนจากโรงเรียนมีชัยพัฒนา

วันพุธที่ 26 เมษายน 2566 เวลา 09.00-12.00 น. สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “บทบาทใหม่ของโรงเรียนในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน : บทเรียนจากโรงเรียนมีชัยพัฒนา” วิทยากรโดย อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนมีชัยพัฒนา นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ประธานมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ณ อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทางออนไลน์ผ่าน Zoom meeting

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวเปิดกิจกรรมและแนะนำวิทยากร จากนั้น อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนมีชัยพัฒนา ได้บรรยายถึงบทบาทใหม่ของโรงเรียนในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งได้ถ่ายทอดบทเรียนจากโรงเรียนมีชัยพัฒนาให้ผู้ฟังได้ทราบถึงการดำเนินการที่ผ่านมา ผ่าน 5 กิจกรรมหลัก 1. ลดการเกิด 2. ลดการตาย 3. ลดการพึ่งพาผู้อื่นด้านการเงิน 4. ลดความยากจน โดยร่วมธุรกิจเอกชน และ 5. ลดความเขลา โดยจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา เพื่อการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับ และการจัดสรรพื้นที่ให้กับนักเรียนในโรงเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะ ลดความพึ่งพาผู้อื่น และแบ่งปันไปยังผู้อื่น ซึ่งมีตัวแทนศิษย์เก่าถ่ายทอดกิจกรรมการดำเนินงานภายในโรงเรียน อาทิ การทำธุรกิจในโรงเรียน ธุรกิจเกษตร การทำกระดาษ การทำโซล่าเซลล์ การฝึกเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ การขายไอศกรีม การทำเครื่องแกง/น้ำพริก การปั้นโอ่งน้ำ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการเผยแผ่ความรู้ไปยังชมชน/หมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำความรู้ต่าง ๆ ไปต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชมต่อไป

ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มุ่งส่งเสริมการสร้างความตระหนักและความเข้าใจร่วมเกี่ยวกับบทบาทใหม่ของโรงเรียนในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตามเกณฑ์การพัฒนาความยั่งยืนขององค์กรเพื่อสังคมของสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) ให้กับผู้ที่สนใจ ประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู นักศึกษาฝึกปฏิบัติการสอน และผู้ที่สนใจทั่วไป ซึ่งได้เดินทางมาเข้าร่วมรับฟังการบรรยายภายในห้องประชุมกว่า 60 คน และเข้าร่วมทางออนไลน์อีกกว่า 140 คน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถร่วมส่งเสริมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะ การปฏิบัติ ตลอดจนมีคุณลักษณะ สมรรถนะสำหรับบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพ และทักษะต่าง ๆ ให้สามารถนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับ นำไปสู่การพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพต่อไป

 

ข่าว พีรณัฐ เอี่ยมทอง

 

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top