สำนักบริการวิชาการ มข. ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อต่อยอดของเดิมเพิ่มเติมของใหม่ ยกระดับหัตถกรรมพื้นบ้านจักสานไผ่เงินล้าน  

                   สำนักบริการวิชาการ ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเทศบาลตำบลโคกสูง จัดโครงการการพัฒนาและยกระดับหัตถกรรมพื้นบ้านจักสานไผ่เงินล้าน เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ให้มีความแตกต่างและตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความหลากหลาย และเพิ่มขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้สามารถแข่งขันในตลาดทั้ง Online และ Offline

            วันที่ 25 เมษายน 2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสำนักบริการวิชาการ จัดโครงการการพัฒนาและยกระดับหัตถกรรมพื้นบ้านจักสานไผ่เงินล้าน  กิจกรรม : ฟื้นฟูพัฒนาผลิตภัณฑ์เก่าและต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ครั้งที่ 2 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหญิง พงศ์พิมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ  เป็นวิทยากร โดยนำแนวคิดการออกแบบเน้นการต่อยอดจากของเดิมเพิ่มเติมของใหม่ สร้างอัตลักษณ์ สร้างตัวตน สร้างความต่างให้กับสินค้าเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากเดิมทางกลุ่มมีกระติบข้าว และ มวยนึ่งข้าว เป็นสินค้าหลักและได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ออกมาเป็น ตะกร้าสานไม้ไผ่ มวยนึ่งข้าวเหนียวในหม้อหุงข้าว และกระจาดสาน เพื่อเพิ่มรูปแบบสินค้า สร้างความหลากหลาย และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจ

การดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในภารกิจของสำนักบริการวิชาการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการประสานบริการวิชาการสู่สังคม (Community Outreach) ในรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วมกัน (CSV) โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ เทศบาลตำบลโคกสูง และกลุ่มจักสานไม้ไผ่เงินล้าน เพื่อการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)  ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ชุมชนผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถดึงเอาศักยภาพพื้นที่ออกมาได้อย่างเต็มที่

ภาพ/ข่าว : วรรณวิษา ธนาจินตวิทย์
ศูนย์บริการวิชาการสังคม สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top