________จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของโลก โดยองค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากร เท่ากับ 32.7 ซึ่งเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย โดยก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้านบาท จากข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีจำนวนอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนบนโครงข่ายถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คิดเป็นร้อยละ 85 ของทั้งประเทศ ดังนั้นสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นปัญหาวิกฤตของประเทศไทย
________เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการสนับสนุนการดำเนินงานวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน ระหว่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีระยะเวลาร่วมดำเนินงาน 3 ปี โดยมี ฯพณฯ ท่านนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามครั้งนี้ทั้งนี้ มีสักขีพยานฝ่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ พนมชัย วีระยุทธศิลป์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย สะตะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร.พนกฤษณ คลังบุญครอง ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการจัดระบบการจราจรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รองศาสตราจารย์.ดร.เฉลิมชัย พาวัฒนา ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เสถียรนาม ศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา เสถียรนาม และรองศาสตราจารย์ ดร.ลัดดา ตันวาณิชกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
________ผู้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ประกอบด้วย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ตำแหน่ง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต ตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้รับมอบอำนาจจากอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
________รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวคำรับความร่วมมือในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยินดีให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ เพื่อส่งเสริมงานศึกษาและวิจัยด้านการจัดการความปลอดภัยทางถนน ในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่บุคลากรของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านความปลอดภัยทางถนนของชาติ และบรรลุเป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตต่อแสนประชากรของประเทศไทยในอนาคตต่อไป”
________“ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ร่วมกับ ปภ.ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการสนับสนุนและผลักดันของ ฯพณฯ ท่านนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งในปัจจุบัน 32.7 ราย/แสนคน โดยมีเป้าหมายจะลดลงให้เหลือ 12ราย/แสนคน ในปี พ.ศ. 2570 จังหวัดขอนแก่นแจ้งว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีผลงานที่โดดเด่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เช่นเส้นทางถนนมิตรภาพ ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ทางวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเข้าไปปรับระบบความปลอดภัยจนปัจจุบันมีอัตราการเสียชีวิตลงอย่างมาก นับเป็นตัวอย่างที่ดี และเป็นองค์ความรู้ที่เราจะสามารถนำไปขยายผลในท้องถิ่น เพื่อจะช่วยทำให้อัตราการบาดเจ็บและการเสียชีวิตของประชาชนบนท้องถนนลดลง” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวเพิ่มเติม
________หลักการสำคัญในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการสนับสนุนการดำเนินงานวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน ทั้ง 6 ฝ่ายจะให้ความร่วมมือกันในการสนับสนุนการดำเนินงานวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน โดยมหาวิทยาลัยยินดีจะสนับสนุนเรื่องการบริการเผยแพร่องค์ความรู้ การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนา และการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนนแก่ ปภ. และ ปภ. จะสนับสนุนเรื่องการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ได้รับการพัฒนาความรู้และนำองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยเผยแพร่ไปใช้ในการปฏิบัติงาน โดยถือเป็นการยกระดับคุณภาพการดำเนินงานวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนนสู่การปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของทางราชการร่วมกัน
________ขอบเขตหน้าที่ของ ปภ.นั้น จะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้รับการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยทางถนนจากทางมหาวิทยาลัย และสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการกับทางมหาวิทยาลัย
________ด้านขอบเขตหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทั้ง 5 สถาบัน จะมีการประสานความร่วมมือกับแหล่งทุนด้านการศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ ปภ. ตลอดจนเจ้าหน้าที่และบุคลากรของภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน และสนับสนุนบุคลากรทำหน้าที่ให้ความรู้ และสถานที่สำหรับการจัดฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับงานวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนนแก่ ปภ. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
________ก้าวสำคัญของการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ได้แก่การนำเอาองค์ความรู้ จากผลงานวิจัย เรื่อง โครงการวิจัยด้านการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบด้านการจัดการความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยซึ่งเป็นความร่วมมือในการดำเนินงานวิจัยของมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พนกฤษณ คลังบุญครอง เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เสถียรนาม และศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา เสถียรนาม ผลสัมฤทธิ์จากงานวิจัยนี้นำไปสู่การจัดทำเป็นคู่มือ 4 เล่ม ประกอบด้วย (1) คู่มือการจัดการจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนน (2) คู่มือการสยบการจราจร (3) คู่มือการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน และ (4) คู่มือการแก้ไขจุดอันตราย ซึ่งจะได้นำไปเผยแพร่ และจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อประชากรแสนคนให้ได้ตามเป้าหมายของประเทศไทยที่ได้ตั้งไว้ในอนาคตต่อไป
ข่าว/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู
KKU targets national road safety by joining other 6 institutions, aiming at reducing deaths from 32.7 to 12 per one hundred thousand population