เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมต้อนรับคณะศึกษาดูงานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการ ศาสตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการ นางสาวสกุณา สาระนันท์ กรรมาธิการ นางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล อนุกรรมาธิการ พร้อมคณะกว่า 20 คน ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การมาเยือนมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้คณะศึกษาดูงานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาดูงานด้านระบบการเรียนการสอน และ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ผลงานวิจัยและพัฒนาที่นำความหลากหลายทางชีวภาพมาพัฒนาอาชีพ และ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรฐานราก
พิธีการเริ่มจาก รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงาน ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา บรรยายหัวข้อ “ภาพรวมงานวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล บรรยายหัวข้อ “การจัดการเรียนสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น” รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ บรรยายหัวข้อ“หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่คณะเกษตรศาสตร์” รองศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต บรรยายหัวข้อ “การจัดการหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์”
รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมผู้มีเกียรติทุกท่านเป็นอย่าสูง ที่กรุณาให้เกียรติมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการเดินทางมาศึกษาดูงานครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กำหนดแนวทางการบริหารงานเพื่อขับเคลื่อนสู่วิสัยทัศน์ของสภามหาวิทยาลัย ที่มุ่งการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่การเป็น มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก ในส่วนของการจัดการศึกษา เรามุ่งจัดการศึกษาสำหรับ ประชาชนทุกกลุ่มอายุ ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากเน้นการสอนเป็นเน้นการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนจากสอน ให้รู้เป็นสอนให้คิด พัฒนาสื่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ปรับเปลี่ยนเนื้อหาของหลักสูตรให้มีการบูรณาการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคตให้กับผู้เรียนโดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาสังคม สามารถสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศได้
“ในส่วนของการวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนจากการทำวิจัยตามความสนใจของนักวิจัยเป็นการทำวิจัยตามความต้องการของผู้ใช้งาน หรือตามปัญหาของประเทศ ปรับเปลี่ยนจากการทำวิจัยเป็นกลุ่ม หรือ โครงการเดี่ยวเป็นการทำวิจัยเป็นทีม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบสูง สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ได้จริง เกิดผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายวิจัยของประเทศ และรองรับการพัฒนาเพื่อยกระดับรายได้ของประชากรให้หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับความกรุณาจากท่านในการให้ข้อแนะนำและแนวทางที่ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สามารถขับเคลื่อนการทำงานในทุกมิติโดยสอดคล้อง กับความมุ่งหวังของประเทศชาติต่อไปในอนาคต” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
นอกจากนี้ภายหลังการฟังบรรยายในหัวข้อ “หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่คณะเกษตรศาสตร์” “การจัดการหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” ศาสตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า การดำเนินการทั้ง 2 หลักสูตรเป็นประโยชน์ และ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จากการทำงานจริง ฉะนั้นควรถอดบทเรียนการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่จาก 2 หลักสูตรข้างต้น โดยที่จะต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่จะได้นำข้อมูลสิ่งที่ควรระวัง ปัญหาสำคัญ ไปถ่ายทอดให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือ ผู้ที่จะทำตาม ได้ลดข้อผิดพลาดในสิ่งที่จะต้องเผชิญ
“ผมอยากเสนอให้เริ่มต้นในระดับมหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อน คิดว่าทุกคณะต้องเปลี่ยนแปลง โดยนำบทเรียนจากคณะเกษตรศาสตร์ และ สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (iSchool KKU) ไปขยาย นอกจากนี้อยากให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นรวบรวมประเด็นปัญหาที่เป็นรูปธรรม บทเรียนนี้มีค่ามาก ผมไม่อยากให้ใครลองผิดลองถูกเหมือน มข. อยากให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี รองศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ บอกถึงจุดที่เป็นปัญหาสำคัญ และ อันตราย ของการปรับตัวนี้คืออะไร และแก้ไขอย่างไร เราจะนำเรื่องนี้ไปนำเสนอท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ว่าท่านทราบปัญหาในลักษณะนี้หรือไม่ ฉะนั้นจึงอยากให้ทางมหาวิทยาลัยรวบรวมข้อมูล โดยเริ่มต้นจากคำถามว่า ถ้าเราจะปรับหลักสูตรใหม่ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณบดี อาจารย์ นักศึกษา ต้องทำอะไรบ้าง คำตอบเหล่านี้จะเป็นข้อสรุปในรายงานของกรรมาธิการ และเมื่อเปิดสภาคราวหน้า เราจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพูดในสภา” ศาสตราจารย์กนก กล่าว
ภายหลังการฟังบรรยายคณะศึกษาดูงานฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการและการสาธิตเกี่ยวกับ การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การจัดการหลักสูตรพันธุ์ใหม่ และ KKU Smart Learning ต่อจากนั้นในช่วงบ่ายเป็นการเดินทางไปศึกษาดูงานโครงการ KKU Smart Learning ณ โรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม ทั้งนี้กำหนดการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 21 – วันอังคารที่ 23 มีนาคม 2564 ณ จังหวัดขอนแก่น โดยในวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2564 ช่วงเช้าจะเป็นการศึกษาดูงาน โรงเรือนต้นแบบผลิตแมลงโปรตีน (แมลงวันลาย)(Black Soldier Fly: BSF) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าสาขากีฏวิทยา และโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยากร ในช่วงบ่ายจะเป็นการศึกษาดูงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานโครงการเลี้ยงจิ้งหรีด มข.- สกสว. โดยมี รองศาสตราจารย์รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย ยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายเพ็ชร วงค์ธรรม อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านแสนตอ เป็นวิทยากร
ข่าว : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์