เมื่อวันพุธ ที่ 25 พฤศจิกายน 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดโรงเรือนสำหรับปลูกพืชพร้อมระบบน้ำ ของคณะเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ประเทศอิสราเอล และมาชาฟ – ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอล โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวรายงานต่อ ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ประธานในพิธี กล่าวเปิดโรงเรือนสำหรับปลูกพืชพร้อมระบบน้ำ โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะผู้บริหาร และบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมให้การต้อนรับ ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และคณะทูต ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวว่า “งานนี้ถือเป็นความพยายามร่วมกันอย่างมหาศาลระหว่างสถานทูตอิสราเอล และมาชาฟ – สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอล และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเริ่มต้นจากการสนับสนุนและแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนและเพื่อกิจกรรมทางการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน”
“นับตั้งแต่นั้นมา สถานทูตอิสราเอลและมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น เนื่องจากทั้งสององค์กรได้ร่วมมือกันในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความร่วมมือด้านการวิจัยที่คณะเกษตรศาสตร์ การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอลและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยในปี 2545 รวมทั้งมีการติดตั้งหน่วยสาธิตระบบจ่ายน้ำและปุ๋ย โดยใช้เทคโนโลยีของไทยและอิสราเอลขึ้นในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยิ่งไปกว่านั้นเราได้มีโอกาสต้อนรับอดีตเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย โอกาสที่ท่านเดินทางมาเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่ออบรมหลักสูตรการบริหารจัดการน้ำซึ่งหัวข้อการฝึกอบรมหลักสูตรในครั้งนั้นคือ “Small Irrigation International (ชลประทานขนาดเล็กนานาชาติ)ฯมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสำหรับภาคการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และวันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีโอกาสต้อนรับ ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยอีก และหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะได้มีโอกาสริเริ่มดำเนินความร่วมมือดีๆ เช่นนี้อีกในอนาคตอันใกล้นี้”
รองศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร กล่าวถึงความเป็นมาว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นและประเทศอิสราเอล ได้มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน และมีความร่วมมือทางวิชาการมาอย่างยาวนาน ในความร่วมมือเมื่อปี 2510 ในขณะนั้น ศาสตราจารย์ เอ็น. เคดาร์ และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทานได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เสนอโครงการความร่วมมือเพื่อศึกษาการเกษตรในเขตชลประทาน และสร้างระบบชลประทานเพื่อแก้ปัญหาน้ำในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาในปี 2545 ได้มีการดำเนินความร่วมมือร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (MASHAV) และกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (CINARDCO) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนทำให้เกิดการติดตั้งแปลงสาธิตเทคโนโลยีระบบน้ำและระบบการจ่ายปุ๋ยแบบใหม่ขึ้นในฟาร์มวิจัยไทย – อิสราเอลของคณะเกษตรศาสตร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”
“ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2563 สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยและมาชาฟ – ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอลและมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้มากขึ้น จึงได้เสนอการสนับสนุนสร้างโรงเรือนแบบผสมผสาน (Hybrid Greenhouse) ขนาด 8×15 เมตร โดยใช้เทคโนโลยีของอิสราเอล สำหรับอุทยานเทคโนโลยีการเกษตรขึ้น โดยลักษณะครึ่งหนึ่งของโรงเรือนเป็นระบบอุปกรณ์แบบธรรมดา (Drip Irrigation System) และอีกครึ่งหนึ่งเป็นระบบไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponic System) เพื่อใช้ในการจัดการศึกษาสำหรับคณะเกษตรศาสตร์ และเป็นแปลงสาธิตสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่คณะเกษตรศาสตร์และคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ในการนี้ คณะเกษตรศาสตร์จึงใคร่ขอบพระคุณสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และมาชาฟ – ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอลเป็นอย่างสูงที่ให้การสนับสนุนคณะเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยดีเสมอมา”
ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม กล่าวในพิธีเปิดว่า “ผมรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมพิธีเปิดโรงเรือนสำหรับปลูกพืชพร้อมระบบน้ำสำหรับอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันนี้ ในนามสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยและมาชาฟ-ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอล สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในวันนี้คือมิตรภาพและความสัมพันธ์อันแนบแน่นยาวนานระหว่างประเทศอิสราเอลและประเทศไทย และระหว่างประเทศอิสราเอลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น”
“ย้อนกลับไป เมื่อปี 2507 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเห็นว่าประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่เห็นด้วยกับแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญชาวอิสราเอลเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการตามพระราชประสงค์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากนั้นผู้เชี่ยวชาญชาวอิสราเอลก็ได้ทำงานในโครงการนี้ทั่วประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นรวมอยู่ด้วย ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่เกษตรกรไทยโดยได้นำความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีอิสราเอลเข้ามาใช้ ตั้งแต่นั้นมาอิสราเอลก็ได้มีความร่วมมือทางการเกษตรกับประเทศไทยมาโดยตลอด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับความรู้และประโยชน์จากโรงเรือนแห่งนี้”
เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวในที่สุดว่า “นอกจากนี้ ทางอิสราเอลยังมีการมอบทุนให้นักศึกษาปีละ 100 ทุน เพื่อสนับสนุนนักศึกษาเพื่อไปแลกเปลี่ยนด้านการเกษตรที่ประเทศอิสราเอลเป็นระยะเวลา 1 ปี หากมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นสนใจก็สามารถเข้าร่วมได้ เมื่อประมาณปีเศษๆ ผมได้มาที่นี่และคณบดีคณะเกษตรได้นำผมไปเยี่ยมชมแปลงสาธิตระบบน้ำและระบบจ่ายปุ๋ย ผมได้สัญญาไว้ว่าจะพยายามพัฒนา หรือนำเทคโนโลยีอื่นจากอิสราเอลมาให้ ปีนี้จึงขอมอบโรงเรือนหลังนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตามที่ได้สัญญาไว้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะมีโรงเรือนใหม่เพิ่มขึ้นในเร็ววัน”
หลังพิธีเปิด รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มอบของที่ระลึกให้ ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร ได้นำเยี่ยมชมโรงเรือนสำหรับปลูกพืชพร้อมระบบน้ำโดยมีนักศึกษาได้สาธิตวิธีปลูกผักระบบไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponic System)
นับว่าเป็นมิตรภาพและสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างประเทศอิสราเอลและประเทศไทย และระหว่างประเทศอิสราเอลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในความร่วมมือที่มีมายาวนานกว่า 55 ปี จนกระทั่งได้เกิดการพัฒนา ในการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีจากประเทศอิสราเอลมาใช้ในด้านการเกษตร ด้านการเรียนการสอน ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการเกษตรประเทศไทย และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ข่าว/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู