อิสราเอลฯ นำความเชี่ยวชาญ หนุน..เกษตร มข. สร้างโรงเรือนปลูกพืชพร้อมระบบน้ำ

เมื่อวันพุธ ที่ 25 พฤศจิกายน 2563  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดโรงเรือนสำหรับปลูกพืชพร้อมระบบน้ำ ของคณะเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ประเทศอิสราเอล และมาชาฟ – ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอล  โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวต้อนรับ  รองศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์  กล่าวรายงานต่อ  ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย   ประธานในพิธี กล่าวเปิดโรงเรือนสำหรับปลูกพืชพร้อมระบบน้ำ  โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น  คณะผู้บริหาร  และบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมให้การต้อนรับ  ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม​ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และคณะทูต  ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

           รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวว่า “งานนี้ถือเป็นความพยายามร่วมกันอย่างมหาศาลระหว่างสถานทูตอิสราเอล และมาชาฟ – สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอล และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเริ่มต้นจากการสนับสนุนและแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนและเพื่อกิจกรรมทางการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน”

“นับตั้งแต่นั้นมา สถานทูตอิสราเอลและมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น เนื่องจากทั้งสององค์กรได้ร่วมมือกันในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความร่วมมือด้านการวิจัยที่คณะเกษตรศาสตร์ การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอลและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยในปี 2545 รวมทั้งมีการติดตั้งหน่วยสาธิตระบบจ่ายน้ำและปุ๋ย โดยใช้เทคโนโลยีของไทยและอิสราเอลขึ้นในมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ยิ่งไปกว่านั้นเราได้มีโอกาสต้อนรับอดีตเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย โอกาสที่ท่านเดินทางมาเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่ออบรมหลักสูตรการบริหารจัดการน้ำซึ่งหัวข้อการฝึกอบรมหลักสูตรในครั้งนั้นคือ “Small Irrigation International (ชลประทานขนาดเล็กนานาชาติ)ฯมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสำหรับภาคการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และวันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีโอกาสต้อนรับ ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยอีก  และหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะได้มีโอกาสริเริ่มดำเนินความร่วมมือดีๆ เช่นนี้อีกในอนาคตอันใกล้นี้”

รองศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

           รองศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร กล่าวถึงความเป็นมาว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นและประเทศอิสราเอล ได้มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน และมีความร่วมมือทางวิชาการมาอย่างยาวนาน  ในความร่วมมือเมื่อปี 2510 ในขณะนั้น ศาสตราจารย์ เอ็น. เคดาร์ และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทานได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้เสนอโครงการความร่วมมือเพื่อศึกษาการเกษตรในเขตชลประทาน และสร้างระบบชลประทานเพื่อแก้ปัญหาน้ำในมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ต่อมาในปี 2545 ได้มีการดำเนินความร่วมมือร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (MASHAV) และกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (CINARDCO) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนทำให้เกิดการติดตั้งแปลงสาธิตเทคโนโลยีระบบน้ำและระบบการจ่ายปุ๋ยแบบใหม่ขึ้นในฟาร์มวิจัยไทย – อิสราเอลของคณะเกษตรศาสตร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

“ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2563 สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยและมาชาฟ – ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอลและมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้มากขึ้น จึงได้เสนอการสนับสนุนสร้างโรงเรือนแบบผสมผสาน (Hybrid Greenhouse) ขนาด 8×15 เมตร โดยใช้เทคโนโลยีของอิสราเอล สำหรับอุทยานเทคโนโลยีการเกษตรขึ้น โดยลักษณะครึ่งหนึ่งของโรงเรือนเป็นระบบอุปกรณ์แบบธรรมดา (Drip Irrigation System) และอีกครึ่งหนึ่งเป็นระบบไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponic System)  เพื่อใช้ในการจัดการศึกษาสำหรับคณะเกษตรศาสตร์  และเป็นแปลงสาธิตสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่คณะเกษตรศาสตร์และคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ในการนี้ คณะเกษตรศาสตร์จึงใคร่ขอบพระคุณสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และมาชาฟ – ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอลเป็นอย่างสูงที่ให้การสนับสนุนคณะเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยดีเสมอมา”

           ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม​  กล่าวในพิธีเปิดว่า  “ผมรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมพิธีเปิดโรงเรือนสำหรับปลูกพืชพร้อมระบบน้ำสำหรับอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันนี้ ในนามสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยและมาชาฟ-ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอล สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในวันนี้คือมิตรภาพและความสัมพันธ์อันแนบแน่นยาวนานระหว่างประเทศอิสราเอลและประเทศไทย และระหว่างประเทศอิสราเอลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น”

“ย้อนกลับไป เมื่อปี 2507 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเห็นว่าประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่เห็นด้วยกับแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญชาวอิสราเอลเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการตามพระราชประสงค์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากนั้นผู้เชี่ยวชาญชาวอิสราเอลก็ได้ทำงานในโครงการนี้ทั่วประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นรวมอยู่ด้วย ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่เกษตรกรไทยโดยได้นำความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีอิสราเอลเข้ามาใช้  ตั้งแต่นั้นมาอิสราเอลก็ได้มีความร่วมมือทางการเกษตรกับประเทศไทยมาโดยตลอด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับความรู้และประโยชน์จากโรงเรือนแห่งนี้”

เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวในที่สุดว่า  “นอกจากนี้ ทางอิสราเอลยังมีการมอบทุนให้นักศึกษาปีละ 100 ทุน เพื่อสนับสนุนนักศึกษาเพื่อไปแลกเปลี่ยนด้านการเกษตรที่ประเทศอิสราเอลเป็นระยะเวลา 1 ปี หากมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นสนใจก็สามารถเข้าร่วมได้  เมื่อประมาณปีเศษๆ ผมได้มาที่นี่และคณบดีคณะเกษตรได้นำผมไปเยี่ยมชมแปลงสาธิตระบบน้ำและระบบจ่ายปุ๋ย ผมได้สัญญาไว้ว่าจะพยายามพัฒนา หรือนำเทคโนโลยีอื่นจากอิสราเอลมาให้  ปีนี้จึงขอมอบโรงเรือนหลังนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตามที่ได้สัญญาไว้   หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะมีโรงเรือนใหม่เพิ่มขึ้นในเร็ววัน”

หลังพิธีเปิด รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มอบของที่ระลึกให้ ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย  จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี โชติษฐยางกูร ได้นำเยี่ยมชมโรงเรือนสำหรับปลูกพืชพร้อมระบบน้ำโดยมีนักศึกษาได้สาธิตวิธีปลูกผักระบบไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponic System)

นับว่าเป็นมิตรภาพและสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างประเทศอิสราเอลและประเทศไทย และระหว่างประเทศอิสราเอลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในความร่วมมือที่มีมายาวนานกว่า 55 ปี จนกระทั่งได้เกิดการพัฒนา  ในการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีจากประเทศอิสราเอลมาใช้ในด้านการเกษตร  ด้านการเรียนการสอน   ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการเกษตรประเทศไทย และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ข่าว/ภาพ   :   วัชรา   น้อยชมภู

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

Scroll to Top