กัลยกร พิราอรอภิชา นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยกับข่าวคณะวิทยาศาสตร์ มข. ว่าได้มีการค้นพบแมลงช้างกรามโตชนิดใหม่ของโลก ชื่อว่า “แมลงช้างกรามโตสยาม” ที่ลำธารห้วยเหล็ก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อปี 2562
แมลงช้างกรามโต จัดอยู่ในอันดับ Megaloptera แมลงในอันดับนี้เป็นกลุ่มที่มีลักษณะโบราณที่สุดในบรรดาแมลงที่มีปีกเจริญภายในลำตัว (Endopterygota) ซึ่งมีการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (Complete metamorphosis) โดยมีเพียงระยะตัวอ่อนเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในน้ำ
แมลงช้างกรามโตเป็นสมาชิกกลุ่มหนึ่งของแมลงน้ำ มีนิสัยเป็นผู้ล่า กินแมลง หรือสัตว์อื่น ๆ ที่มีขนาดเล็ก ในแหล่งน้ำเป็นอาหาร จัดเป็นผู้บริโภคลำดับที่สองในโซ่อาหาร และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ มีบทบาทในการหมุนเวียนแร่ธาตุในระบบนิเวศ บางชนิดตัวอ่อนอาศัยอยู่เฉพาะในแหล่งน้ำที่สะอาด และมีอุณหภูมิต่ำ บางชนิดมีความทนต่อมลพิษสามารถอาศัยในน้ำที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนักได้ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะสามารถนำไปใช้ศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกได้ด้วย นอกจากนี้บางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยมีการนำตัวอ่อนแมลงช้างกรามโตมาประกอบอาหาร
การค้นพบแมลงช้างกรามโตชนิดใหม่ของโลก
แมลงช้างกรามโตสยาม
ชื่อวิทยาศาสตร์: Indosialis siamensis Piraonapicha, Sangpradub, Jaitrong & Liu, 2020
ชื่ออื่น: ตะขาบน้ำ อีตือ หงีด ไซบางทา
แมลงช้างกรามโตสยาม Indosialis siamensis ถูกพบโดย กัลยกร พิราอรอภิชา นักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร. นฤมล แสงประดับ แมลงช้างกรามโตสยาม ถูกพบในบริเวณลำธารต้นน้ำห้วยเหล็ก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย แมลงช้างกรามโตชนิดนี้เป็นชนิดใหม่ของโลก และเป็นแมลงน้ำกรามโตลำดับที่ 13 ที่มีรายงานการพบในประเทศไทย แมลงชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ สีของส่วนหัว อก และลำตัวสีน้ำตาล ในขณะที่แมลงชนิดอื่นในสกุลเดียวกันมีหัวและอกสีส้ม และส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ มีถุงขนาดใหญ่ เห็นได้ชัดเจน
นอกจากแมลงช้างกรามโตสยามแล้ว บริเวณลำห้วยนี้ยังพบแมลงช้างกรามโตสิบสองปันนา (Indosialis bannaensis) ด้วย แมลงช้างกรามโต Indosialis อาศัยอยู่แหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีไปจนถึงแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน การพบระยะตัวอ่อนของแมลงช้างกรามโตสกุลนี้ในลำธารห้วยเหล็กซึ่งเป็นลำธารที่ได้รับน้ำทิ้งจากเหมืองแร่ทองคำ มีค่าปนเปื้อนโลหะหนักสูง แสดงให้เห็นว่าแมลงช้างสกุลนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบของโลหะหนักได้ เมื่อมีการศึกษาแมลงช้างสกุลนี้มากขึ้น จะส่งผลให้สามารถนำความรู้ไปใช้บ่งชี้การถูกรบกวน และการฟื้นตัวของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้ งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือกับ ดร. วียะวัฒน์ ใจตรง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ประเทศไทย และ Prof. Dr. Xingyue Liu จาก Department of Entomology, China Agricultural University สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.)