อุทยานวิทย์ มข.ปรับกลยุทธ์สู้โควิด เน้นเยียวยาเศรษฐกิจอีสาน ผสานวัตกรรมด้านความปลอดภัย

‘ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)’ เป็นคำนิยามใหม่ที่ทุกคนรู้จักและคุ้นชินเป็นอย่างดีในระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมานี้ เราทราบกันดีว่าทั่วทุกมุมโลกได้เผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชนและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้นในบางประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ ด้านสถานการณ์ในประเทศไทย หลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 โดยให้มีการเปิดสถานที่ กิจการ กิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งการอนุญาตให้ผู้ที่อยู่ต่างประเทศเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้บางส่วนนั้น

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ผ่านกลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้สังกัดสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 (มีผลตั้งแต่เดือนมีนาคม– 30 กันยายน 2563) ดังนี้

1) การลดอัตราค่าสมาชิกอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 60% ของค่าบริการสมาชิกแต่ละพื้นที่

2) การลดค่าบริการวิเคราะห์องค์ประกอบของอาหาร (Food Analysis Laboratory) และค่าบริการโรงงานต้นแบบสำหรับแปรรูปผลผลิต ทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Pilot Plant) 50 %

3) การลดค่าบริการใช้พื้นที่ห้องประชุม 60%

ห้อง Board Room
ห้อง Board Room
ห้องประชุม Auditorium
ห้องประชุม Auditorium

   

          ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ให้บริการพื้นที่ทำงานสำหรับนักศึกษา สตาร์ทอัพ และ SMEs พร้อมผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ หลังจากวิกฤตโควิด 19 ทำให้ต้องหยุดการให้บริการในพื้นที่อาคารฯ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง เราได้ปรับกลยุทธ์ โดยเน้นเยียวยาผู้ประกอบการในพื้นที่ และออกมาตรการที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ และลงทะเบียนเพื่อคัดกรองคนเข้าพื้นที่ จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ การทำความสะอาดพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ นอกจากนั้น ยังได้นำนวัตกรรมมาใช้ในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันเชื้อโควิด 19 อีกด้วย นั่นคือ UVC STATION เครื่องฉายแสงอัลตราไวโอเลต (UVC) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคที่มองไม่เห็นในพื้นที่ห้องประชุม”

ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มข.
ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มข.

อย่างไรก็ตาม แม้จุดจบของวิกฤตนี้อาจดูว่ายังอีกยาวไกล แต่การรับมือกับปัญหาด้วยสติและปัญญา พร้อมส่งกำลังใจให้และกัน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องปฎิบัติหน้าที่ ถือเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีที่จะช่วยก้าวข้ามผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้โดยเร็ว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) โทร 043048048

เขียนโดย ณัฐกานต์ อดทน

 

Scroll to Top