เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สู่ชุมชน ภายใต้ชื่อ “คติชนสร้างสรรค์ 65 : การตลาดเล่าเรื่องจากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโบราณคดีดงเมืองแอมและนวัตวิถี อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น” โดยได้รับเกียรติจาก นายกรชวาลวิชญ์ ชัยพีรวัส นายอำเภอเขาสวนกวาง กล่าวต้อนรับและแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองเขาสวนกวาง สู่เมืองน่าอยู่ อาหารน่ากิน วิถีถิ่นน่าเที่ยว จากนั้นอาจารย์ ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ ผู้รับผิดชอบหลักโครงการได้กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย เพียยุระ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยนายทวี อรัญศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงเมืองแอม ภาคีเครือข่าย หัวหน้าส่วนงาน ผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านบ้านดงเมืองแอม จำนวน 15 หมู่บ้าน เข้าร่วมโครงการกว่า 100 คน จัดขึ้น ณ วัดศรีเมืองแอม บ้านดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น
โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สู่ชุมชน เป็นโครงการที่เกิดจากการบูรณาการความรู้เชิงสหวิทยาสำหรับสร้างฐานข้อมูลให้กับแหล่งโบราณคดีดงเมืองแอม ซึ่งเป็นแหล่งโบราณดีที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศและอันดับ 1 ของภาคอีสาน เพื่อเสริมฐานข้อมูลในมิติต่างๆ ที่นำไปสู่การอธิบายความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งมรดกภูมิปัญญาในแหล่งโบราณคดีดงเมืองแอม โดยดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด “ไขความลับอาณาจักรพันปี ดงเมืองแอมแตนตำนาน พัฒนาการเขาสรรพยา ราชมรรคาไหมและเกลือ ออนชอนเหลือวิถีวัฒนธรรม”
อาจารย์ ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “โครงการฯ มุ่งบูรณาการความเชี่ยวชาญของนักวิชาการในหลากหลายสาขาเพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลฐานรากทางสังคมวัฒนธรรมในชุมชนแหล่งโบราณคดีดงเมืองแอมสู่การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและอาหาร รวมทั้งเสริมเครือข่ายความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 โดยกิจกรรมในโครงการได้มีการออกแบบให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนกับชุมชน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม”
และ รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย เพียยุระ ได้กล่าวว่า “การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้จะนำไปสู่การขยายผลเพื่อเตรียมแผนพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น และการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเมืองเขาสวนกวางตื่นตัวกับการนำเนื้อหาเรื่องเล่าประเภทต่างๆ ในท้องถิ่นมาใช้เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป”
KKU Humanities and Social Sciences transfers technology and innovation to the community to promote community economic development at Dong Muang Am Archaeological Site, Khao Suan Kwang District
โดยกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าว ประกอบไปด้วย กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และเล่าเรื่องของเยาวชนร่วมกับกองการศึกษาดงเมืองแอม เรื่อง “ทัศนศิลป์ถิ่นโบราณ” เมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม 2565 มีผู้เข้าร่วมทั้ง 2 วัน ราว 346 คน และในวันที่ 31 สิงหาคม –2 กันยายน 2565 มีเวทีบริการวิชาการเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และชุมชนดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง โดยมีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมให้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าของแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของชุมชนที่ต้องบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลที่ลึกซึ้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายต่อไป
ข่าว/ภาพ : ภาวดี มาพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์