วันที่ 20 เมษายน 2565 เวลา 09.00 น. อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับบริษัท ไอบิทซ์ จำกัด จัดกิจกรรม “NESP Unbox EP.3 เปิดตัว Vallaris Maps Platform” เครื่องมือสำหรับบริหารจัดการข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ ในช่วงพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ เหล่านภากุล รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดกิจกรรม โดยมีคุณประสงค์ ปทีปเพิ่มพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบิทซ์ จำกัด พร้อมด้วยคุณมรุพงค์ โฉมเฉลา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมเชิงพื้นที่ บริษัท ไอบิทซ์ จำกัด ตลอดจนผู้นำองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน คณาจารย์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ณ The Beegins Co-Working Space อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น)
รศ.ดร.ธีรวัฒน์ เหล่านภากุล รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมว่า “กิจกรรม NESP Unbox ถือเป็นกิจกรรมภายใต้การขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรม (Eco-System) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมของเอกชนผู้ใช้พื้นที่อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน นักลงทุน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ Startup ภาคเอกขนให้เติบโตอย่างยั่งยืน”
ด้านการเสวนาในประเด็นเรื่อง ความสำคัญและการขับเคลื่อนหน่วยงานด้วยข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจากผู้เข้าร่วมเสวนา ดังนี้
- คุณปริญญ์ เสถียรปากีลานคร ตำแหน่ง Project Coordinator Metaverse Thailandบริษัท MExpert ผู้ออกแบบและสร้าง Metaverse Thailand
- ผศ.ดร.พิพัธน์ เรืองแสง อาจารย์ประจำ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คุณกานต์ พฤกษาวรรณสาขา วิศวกรโยธา สำนักภูมิสารสนเทศระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง
- คุณนววิทย์ พงศ์อนันต์ ผู้เชี่ยวชาญงานพิเศษด้านข้อมูลระดับสูง สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
- คุณกอร์ปสินธุ์ จรูญเจตจำนง ตำแหน่ง Head of Analytics Solutions บริษัท ทีสเปซ ดิจิตอล จํากัด
โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งการรับมือต่อปัญหาแพร่ขยายของโรคระบาด การบุกรุกทำลายทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ ข้อมูลเหล่านี้เมื่อปรากฏบนแผนที่ทำให้สามารถแปลความ สื่อความหมาย และนำไปใช้งานได้ง่ายและแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที
คุณมรุพงค์ โฉมเฉลา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมเชิงพื้นที่ บริษัท ไอบิทซ์ จำกัด กล่าวถึง “Vallaris เป็นแพลตฟอร์มทางด้านภูมิศาสตร์ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการข้อมูลด้านภูมิศาสตร์แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนกระจายกันอยู่หลายหลากที่ ไม่ว่าจะเป็น ไฟล์ หรือ ฐานข้อมูล ทำให้เมื่อต้องการใช้งานข้อมูลร่วมกันเป็นไปอย่างยากลำบาก Vallaris จะมีเครื่องมือสำหรับนำเข้าข้อมูล ทำให้ข้อมูลถูกจัดเก็บอย่างมีระเบียบ เมื่อข้อมูลถูกจัดเก็บอย่างมีระเบียบแล้ว ช่วยให้สามารถนำข้อมูลทั้งที่เก็บอยู่ใน Vallaris เอง และจากแหล่งข้อมูลภายนอกมาวิเคราะห์ร่วมกันได้ โดยผู้ใช้งานออกแบบการแสดงผลบนแผนที่ได้ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญคือผู้ใช้สามารถเรียกบริการแผนที่ (Map Service) และบริการข้อมูล (Data Service) ไปใช้งานได้อย่างง่าย สะดวก และรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันมีความร่วมมือกับวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนำ Vallaris ไปใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนการสอนด้านภูมิสารสนเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายภายใต้โครงการ One Day Sharing UNI Project
สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2278-7913 , อีเมล sales@i-bitz.co.th , Website: https://vallarismaps.com Facebook Fanpage : Vallaris Maps
ข่าว : ณัฐกานต์
ภาพ: นภดล