สำนักบริการวิชาการ ร่วมกับ ธนาคารออมสิน จัดประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินงานกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2565 “ โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ยกกำลัง 2” พัฒนาความรู้ เสริมภูมิปัญญา สร้างคุณค่าเศรษฐกิจชุมชน และ ค้นหาศักยภาพเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักบริการวิชาการ จัดกิจกรรมค้นหาศักยภาพเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ในรูปแบบ ออนไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ณ ห้องประชุมมณีเทวา สำนักบริการวิชาการ
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ โดยเป็นกิจกรรมการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการชุมชน ร่วมกับ สถาบันอุดมศึกษา และ องค์กรชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในด้านการบริการวิชาการแก่สังคม โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารออมสิน ซึ่งในปีนี้มุ้นเน้นไปยังพื้นที่ใน อ.ภูผาม่าน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของจังหวัดขอนแก่นที่จะผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่และยกระดับสู่นานาชาติ สำนักบริการวิชาการ จึงร่วมผนึกกำลังบูรณาการองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างความมั่นคงของรากฐานสังคมจากฐานความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ผลักดันให้อ.ภูผาม่านได้บรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ของทางจังหวัดอีกด้วย และยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นหนึ่งในปณิธานในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน #SDGs1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (End poverty in all its forms everywhere)
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สุกานดา นาคะปักษิณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการนวัตกรรมการท่องเที่ยว และ ดร.จิณนพัษ ปทุมพร จาก คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี เป็นอาจารย์ผู้ให้คำปรึกษา ค้นหาความต้องการ และแนวทางในการพัฒนาของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่ม พร้อมด้วยทีมนักศึกษาชั้น ปีที่ 1-3 จากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และ คณะศึกษาศาสตร์ โดย ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ยกกำลัง 2 ในครั้งนี้ได้แก่ 1) กลุ่มเกษตรนวัตวิถีก้าวหน้า บ้านผาน้ำทิพย์ 2) ฟาร์มอินทรีย์เอิ้นขวัญ 3) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 4) สวนลองกองฝายตาสวนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร 5) ชมรมท่องเที่ยวชุมชนล่องแก่งผาเทวดา โดยหลังจากนี้จะเป็นการลงพื้นที่ของทีมนักศึกษาและอาจารย์ เพื่อร่วมกันผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายมุ่งไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ