มข. ร่วมเอกชน ผลิตวัสดุนาโนจากแกลบ สุดยอดวิจัย เพื่อพลังงานโลก

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว “จากงานวิจัยด้านการผลิตวัสดุนาโนจากแกลบสู่นวัตกรรมแบตเตอรี่ยุคใหม่” ภายใต้โครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ชนิดลิเทียมไอออนระดับเซลล์  โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีพร้อมด้วย รศ.ดร.นงลักษณ์  มีทอง   หัวหน้าโครงการ นำเสนอการดำเนินงานพร้อมกับส่งมอบผลสัมฤทธิ์จากโครงการวิจัย พร้อมด้วย คุณสัจจา เจนธรรมนุกูล ประธานกรรมการ คุณกัลยา คล้ายทอง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) และ คุณอัคธัช ชวนะพงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ จำกัด และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น   ร่วมแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานโครงการ โดยมีสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจร่วมงานจำนวน 50 คน ภายใต้การควบคุมโรคระบาดอย่างเคร่งครัด ณ  ห้องประชุม 3 อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าแบตเตอรี่จากแกลบ เริ่มดำเนินโครงการเมื่อ พฤษภาคม 2560 จากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ จำกัด โดยโครงการวิจัยได้ดำเนินการทดสอบการผลิตวัสดุนาโนซิลิกอนจากแกลบสำหรับใช้เป็นขั้วไฟฟ้าแอโนดในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนในระดับโรงงานต้นแบบ (Pilot scale) เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนในเชิงพาณิชย์

คุณสัจจา เจนธรรมนุกูล ประธานกรรมการ บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) รศ. นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัย ขอนแก่น (ขวา)

รศ. นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นประธานในพิธีได้กล่าวต้อนรับ พร้อมกล่าวถึงโครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนระดับเซลล์ในฐานะผู้ร่วมดำเนินงาน ว่า “ทั้ง 3 ฝ่ายมีความตั้งใจจริงและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยได้ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน จัดหาแรงงาน เครื่องมือ เครื่องใช้ และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินงานร่วมกันภายในพื้นที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มอบหมายให้ รศ. ดร. นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมกับทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าแบตเตอรี่จากแกลบ โดยผลสัมฤทธิ์จากโครงการที่สำคัญ คือ การยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาจำนวน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ กระบวนการผลิตและวัสดุนาโนจากแกลบ รวมถึงส่งมอบต้นแบบจำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ วัสดุนาโนซิลิกา วัสดุนาโนซิลิกอน วัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้า และต้นแบบเซลล์แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ที่จะหารือร่วมกันกับบริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัทเพทโทร อินสตรูเมนท์ จำกัด ถึงแนวทางที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต”

คุณสัจจา เจนธรรมนุกูล ประธานกรรมการ บริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ จำกัด ได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ในตลาดการผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ในตลาดทั่วโลก มีการวิจัยกันอย่างกว้างขวาง เป็นอนาคตของระบบอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้ประเทศไทยนั้นมีจุดยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์ระบบไฟฟ้า นับว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก พร้อมยังผลักดันให้มีการแปรรูป ในพัฒนาธุรกิจอื่นๆ อย่างหลากหลาย และปิดท้ายด้วยการกล่าวชื่นชมทีมนักวิจัยวัสดุนาโนจากแกลบอีกด้วย

ด้าน รศ. ดร. นงลักษณ์ มีทอง หัวหน้าโครงการ เป็นตัวแทนทีมนักวิจัยกล่าวถึงการดำเนินงานวิจัยของโครงการ ว่า ในขั้นตอนแรกได้นำ ข้าว มัน อ้อย ที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรและยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นซิลิกาสูงมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตซิลิกอน และนำเอาซิลิกอนมาแปรรูปให้สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง วัสดุทางการแพทย์ แบตเตอรี่ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เซลล์แสงอาทิตย์ โดยคณะผู้วิจัยได้เล็งเห็นว่า วัสดุนาโนจากแกลบนั้นจะช่วยแก้ปัญหาของกลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า แบตเตอรี่ เนื่องจากวัสดุนาโนจากแกลบที่ผลิตขึ้นมาเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่แบบเก่าจะทำให้มีค่าความจุไฟฟ้าที่สูงกว่า ปลอดภัยกว่า และสามารถรองรับการอัดประจุอย่างรวดเร็ว (Fast Charge) และยังสามารถนำวัสดุนาโนจากแกลบนี้ไปประยุกต์ใช้กับอย่างอื่นได้อย่างกว้างขวาง

            รศ. ดร. นงลักษณ์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ในมุมของคนทำวัสดุเรารู้ว่าในแกลบมีซิลิกา ซึ่งสามารถเอาไปเป็นซิลิกอนที่สามารถใช้เป็นขั้วในแบตเตอรี่ได้อย่างมีคุณภาพ ในเชิงเทคนิคเรารู้อยู่แล้วว่าสามารถทำได้ แต่ว่าทำยังไงให้มันมีสเกลพอที่เราจะสามารถเอามาทดสอบในอุปกรณ์จริงได้ สิ่งนี้จึงเป็นวัตถุประสงค์ของโครงการที่ทำโรงงานต้นแบบแล้วก็ขยายสเกลวัสดุจากห้องแล็บออกมา อีกมุมหนึ่งที่เราคิดว่ามันสำคัญมาก ๆ เหมือนกันก็คือ มุมของเกษตรกร ที่ปัจจุบันคนภาคอีสานค่อนข้างมีรายได้น้อย และอาชีพเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา ต้องพึ่งพาหลายอย่างมาก ทางเราจึงคิดว่าจากเดิมที่ชาวนาจะขายได้เพียงแต่ข้าว ก็เปลี่ยนให้กลายเป็นขายแกลบเพื่อนำมาเป็นตัววัตถุตั้งต้นของอุตสาหกรรมหนักได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งมันก็อาจจะสร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้คนในพื้นที่ของเราได้อีกด้วย

จากการวิจัยและพัฒนาวัสดุนาโนจากแกลบนั้นเป็นโครงการที่พัฒนาต่อยอดมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 จากการร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ จำกัด ที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนาวัสดุนาโนจากแกลบ จากวัสดุทางการเกษตร ต่อยอดไปสู่นวัตกรรมแบตเตอรี่ยุคใหม่ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลายซึ่งเป็นที่พึ่งสำหรับพลังงานโลกในปัจจุบันและอนาคต

 

ข่าว : จิราพร ประทุมชัย / สหัสวรรษ เซียวศิริกุล / ยุธิดา โฉสูงเนิน

ภาพ : สหัสวรรษ เซียวศิริกุล นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ กองสื่อสารองค์กร

KKU joins private companies to produce nano-materials from rice husks as world energy, a great outcome of KKU research

https://www.kku.ac.th/12612

 

Scroll to Top