__________เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กันยายน 2564 วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ประกอบด้วย วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการทางธุรกิจและนวัตกรรมทางการจัดการ ระดับชาติ ประจำปี 2564 The National Conference on Business Management and Innovation 2021 (NCBMI 2021) โดยมี ดร.สุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานคณะกรรมการกำกับนโยบาย วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม รองศาสตราจารย์ ดร.ลำปาง แม่นมาตย์ คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ เป็นผู้กล่าวรายงานต่อ รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานพิธีเปิด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 500 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเจ้าภาพร่วม นักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่า นักธุรกิจ และผู้บริหารหน่วยงานภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พาณิชย์จังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด กลุ่มเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC -Young Entrepreneur chamber of commerce) 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีวิทยากร ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ “จีน – อเมริกา เทรนด์ธุรกิจการค้าโลก” และคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจ ไทย – จีน และประธานมูลนิธิอมตะ บรรยายในหัวข้อ “โอกาสอีสานกับอนาคตจีนใน GMS” เป็นการประชุมผ่านระบบ ZOOM ณ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
__________ดร.สุนทร อรุณานนท์ชัย กล่าวต้อนรับและให้ทัศนะเรื่องความสำคัญในการทำธุรกิจกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ว่า “ในฐานะประธานการกำกับนโยบายของบัณฑิตศึกษาการจัดการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความยินดีอย่างยิ่งที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ กว่า 20 มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ เป็นการประชุมวิชาการที่น้อยครั้งจะรวบรวมผู้มีความรู้ด้านธุรกิจมารวมตัวกัน นักธุรกิจจากภาคอีสานกว่า 200 ท่านให้ความสนใจร่วมสัมมนา ทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการจะสนใจเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หัวข้อประชุมวิชาการ “Chinese – Thai Business Collaboration” จึงเป็นประเด็นที่ทุกคนในประเทศไทยให้ความสนใจในการทำธุรกิจกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ด้วยเป็นประเทศใหญ่ ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่และก้าวหน้าไกลสุดกู่ แม้ไทยอยู่ใกล้จีนมาก แต่รู้ภาษาจีนน้อยกว่าภาษาอังกฤษ การเจรจาทางธุรกิจเป็นภาษาจีนจะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจได้ ในอาเซียน 10 ประเทศ รู้ภาษาจีนโดยเฉลี่ยมากกว่าประเทศไทย หวังว่าผู้ประกอบการจะเน้นให้ความสำคัญด้านการเรียนและใช้ภาษาจีนเพื่อทำธุรกิจธุรกรรมร่วมกัน แม้จีนจะมีธุรกิจก้าวหน้า โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ยังมองว่าไทยยังคงสามารถจะไปทำธุรกิจกับประเทศจีนได้ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร หรือภาคเกษตร เนื่องจากทางจีนมีประชากรจำนวนมาก และมีกำลังซื้อสูง การคมนาคมที่สะดวก และมีความคล้ายคลึงในด้านวัฒนธรรมที่พร้อมกับการทำธุรกิจร่วมกัน”
__________รองศาสตราจารย์ ดร.ลำปาง แม่นมาตย์ กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีเปิดว่า “วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ ได้จัดการประชุมวิชาการทางธุรกิจและนวัตกรรมทางการจัดการ ระดับชาติ เป็นครั้งที่ 8 โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยนเรศวร พันธมิตรทางวิชาการเป็นเจ้าภาพร่วม เพื่อให้กลุ่มนักวิชาการ นักวิจัย นักปฏิบัติ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับพัฒนาวิชาการใหม่ ๆ ประสบการณ์ทางการบริหารธุรกิจที่สำคัญ และนวัตกรรมทางการบริหารธุรกิจ อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม หัวข้อประชุมวิชาการ “Chinese – Thai Business Collaboration” เป็นประเด็นสำคัญในวงการธุรกิจและจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยในอนาคต”
__________“วิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนให้มีประสบการณ์การทำธุรกิจจริงและเปิดโอกาสให้นักศึกษาปัจจุบัน ศิษย์เก่า ได้ให้มีโอกาสสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตหรือหรือ MBA ของวิทยาลัย ได้การรับรองจาก ABEST21 (The Alliance on Business Education and Scholarship for Tomorrow, a 21st century organization) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การรับรองคุณภาพการศึกษาสำหรับหลักสูตรบริหารธุรกิจ ซึ่งมีความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาในระดับสากลกว่า 70 สถาบันทั่วโลก”
__________“ตั้งแต่ภาคปลายปีการศึกษา 2564 วิทยาลัยได้รับนักศึกษานักธุรกิจจากประเทศจีนเข้ามาศึกษาในหลักสูตร MBA เป็นรุ่นแรก โดยเปิดสอนเป็นห้องเรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนโดยเฉพาะ English – Chinese Section เป็นโอกาสที่ดีในการเป็นศูนย์กลางการสร้างความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจไทย จีน และประเทศอื่น ๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำไปสู่การทำธุรกิจร่วมกันต่อไป”
__________รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวในพิธีเปิดว่า “การจัดประชุมวิชาการถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับกลุ่มนักวิชาการ นักวิจัย นักปฏิบัติ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในแต่ละสาขา ที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ และนำเสนอผลการวิจัย เผยแพร่ผลงานที่เป็นประโยชน์ในด้านธุรกิจและนวัตกรรมทางการจัดการสู่สาธารณะ เพื่อผู้ที่อยู่ในวงวิชาชีพ จะได้เรียนรู้ร่วมกัน และรับรู้ถึงการพัฒนา และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทางวิชาการ และวิชาชีพนั้น ๆ ประเด็นการประชุมวิชาการ “Chinese – Thai Business Collaboration” เป็นประเด็นสำคัญในวงการธุรกิจและจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยในอนาคต วิทยากรก็เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มีชื่อเสียงในระดับประเทศ ที่ได้ศึกษาลึกซึ้งในเรื่องของจีนและมีประสบการณ์การทำธุรกิจร่วมกับจีนมายาวนาน”
__________“ในการจัดการประชุมทางวิชาการทางธุรกิจและนวัตกรรมทางการจัดการ ระดับชาติ ประจำปี 2564 ได้ขยายกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมจากนักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัยทางด้านธุรกิจไปครอบคลุมนักธุรกิจ ผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันประกอบไปด้วย ประธานหอการค้า ประธานภาคอุตสาหกรรม นักธุรกิจ และกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC -Young Entrepreneur chamber of commerce) ใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือได้ว่า การประชุมวิชาการแห่งนี้เป็นเวทีที่ให้บุคลากรทางด้านธุรกิจได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้าในภูมิภาคนี้ให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น” รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวในที่สุด
__________วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ จัดการประชุมระดับชาติครั้งนี้ขึ้น นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทั้งในสถาบันเดียวกันและต่างสถาบัน และบุคคลทั่วไปที่อยู่ในสาขาบริหารธุรกิจ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการวิจัย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทางธุรกิจและนวัตกรรมทางการจัดการที่เป็นรูปธรรม
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู