……….เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 11.30 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศ “Medical Hub” โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ลงนาม และ รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ลงนามเป็นพยาน ด้านกรมธนารักษ์มี นางสาวเบญจรัตน์ รัชฎามาศ ธนารักษ์พื้นที่ขอนแก่น เป็นผู้ลงนาม และ นางนภาวรรณ นาจะหมื่น ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ราชพัสดุ ลงนามเป็นพยาน โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ และผู้บริหารบุคลากรกรมธนารักษ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
……….นางสาวเบญจรัตน์ รัชฎามาศ กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้รับสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ขก.1955 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น กรมธนารักษ์ได้เห็นถึงความสำคัญของการให้บริการทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เสมอภาคและมีประสิทธิภาพ โดยไม่คำนึงถึงรายได้ หรือฐานะทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นสถานศึกษาที่ผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพ ภายใต้การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผู้บริหาร ดังจะเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 1 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะดำเนินการก่อสร้างศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศ และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดตั้งศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ จะช่วยให้ประชาชนได้รับการบริการด้านการแพทย์และด้านสาธารณสุขอย่างเสมอภาค”
……….รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวถึงความเป็นมาของพื้นที่ก่อสร้างศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศว่า “ผู้ใช้ประโยชน์ดั้งเดิมในพื้นที่คือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาได้ยกพื้นที่ให้สำนักงานน้ำบาดาล เขต 4 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าใช้ประโยชน์ เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความจำเป็นที่จะสร้างศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศขึ้น จึงได้เจรจาขอคืนพื้นที่จากสำนักงานน้ำบาดาลให้กรมธนารักษ์ เพื่อจะนำไปขยายพื้นที่โรงพยาบาล การเจรจาเป็นไปด้วยดีกระทั่งได้มีพิธีลงนามความร่วมมือสำนักงานน้ำบาดาลเขต 4 ได้ย้ายไปพื้นที่แห่งใหม่ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดสรรงบประมาณให้ 200 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารทดแทนให้”
……….“แต่การดำเนินการก่อสร้างศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศยังคงล่าช้า อันเนื่องมาจากเมื่อ พ.ศ.2558 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เปลี่ยนสถานะจากหน่วยงานของรัฐ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จากเดิมหน่วยงานของรัฐไม่ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ของกรมธนารักษ์ แต่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ และจะสร้างโรงพยาบาลอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงได้รับค่าเช่าในอัตราผ่อนปรน และถูกที่สุด ในอัตราตารางวาละ 3 บาท ตกปีละประมาณ 3 แสนบาทเศษ เหมือนกับหน่วยงานสภากาชาดไทย รัฐวิสาหกิจ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติกรมธนารักษ์ ขอขอบคุณกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานน้ำบาดาล เขต 4 ที่ยินยอมให้มหาวิทยาลัยใช้พื้นที่โดยคืนพื้นที่ให้กับกรมธนารักษ์ และขอบคุณกรมธนารักษ์ที่อนุญาตและอำนวยความสะดวกให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้พื้นที่ จนกระทั่งมีพิธีลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ ในวันนี้”
……….อธิการบดีกล่าวต่อไปว่า “ด้านที่มาของการก่อสร้างศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศนั้น เนื่องจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ปัจจุบันมีเตียงจำนวน 1,200 เตียง ศูนย์หัวใจสิริกิติติ์ฯ จำนวน 200 เตียง รวมจำนวน 1,400 เตียง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วย จำเป็นต้องส่งต่อคนไข้ไปยังโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ซึ่งมีคนไข้หนาแน่นอยู่แล้ว จึงได้มีโครงการขยายโรงพยาบาลขนาดใหญ่โดยความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย จะทำให้อัตราเตียงต่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเพียงพอ เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วน 1 เตียง/ประชากร 600 คน ในขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศจำนวน 1/400 คน กรุงเทพมหานครจำนวนเตียงต่อคน 1/100เศษ เท่ากับประเทศที่เจริญแล้ว แสดงให้เห็นว่าในภาคอีสานยังขาดแคลนเตียงอยู่จำนวนมาก และการมีศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศขึ้น จะมีเทคโนโลยีชั้นสูง มีเครื่องมือที่ทันสมัย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และสามารถทำการผ่าตัด และการรักษาโรคซับซ้อนที่รับส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่นๆ ได้อีกด้วย”
……….“สำหรับประโยชน์จากการก่อสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศจะมีประโยชน์เกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ส่วน ส่วนแรก คือ การบริการทางการแพทย์ที่จะขยายให้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพ คุณภาพสูงขึ้น ส่วนที่ 2 คือจะสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ คือบัณฑิตแพทย์ที่ผลิตได้ปีละ 288 คน และแพทย์เชี่ยวชาญ หมายถึง ศัลยแพทย์ สูติแพทย์ อายุรแพทย์ เป็นต้น การมีโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกกว่าหกร้อยเตียง จะทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น จากปี 150 คน เป็น 300 คน เพราะการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องมีสถานที่ฝึกอบรมโดยฝึกกับผู้ป่วย ส่วนที่ 3 เป็นเรื่องของวิจัย งานวิจัย และนวัตกรรมการวิจัยเชิงลึก ซึ่งด้านนวัตกรรมทางการแพทย์นั้น มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ในการก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมทางด้านสุขภาพ KKU Health Care Innovation Center ขึ้นมารองรับ เป็นสถานที่สำหรับการคิดประดิษฐ์นวัตกรรม ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์เพื่อทดแทนการนำเข้า หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะดูแลคนไข้ได้รับความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ในด้านสังคมผู้สูงอายุก็มีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มาช่วยในการออกแบบที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต”
……….โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ (Medical Hub) เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเริ่มก่อสร้างในเร็วๆ นี้ ในวงเงินก่อสร้าง 4,000 ล้านบาท บนพื้นที่ประมาณ 32 ไร่ โดยมี บริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้าง บริษัทสถาปนิก 110 จำกัด เป็นผู้ออกแบบ และ บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ควบคุมโครงการ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงภูมิภาคข้างเคียง
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ภาพ : วัชรา น้อยชมภู / ณัฐวุฒิ จารุวงศ์