คณะเกษตรศาสตร์ มข. สร้างพื้นที่เรียนรู้ด้านไม้ดอกผสานการท่องเที่ยว รับนโยบาย Great Place to Live ต่อยอดนำองค์ความรู้สู่ชุมชน ตั้งเป้ามีพรรณไม้หมุนเวียนให้ชมทั้งปี

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร จัดพื้นที่ในการปลูกพืชไม้ดอก อาทิ ดอกคัตเตอร์ และดอกมาร์กาเร็ต สร้างแหล่งเรียนรู้และพื้นที่ปฏิบัติการงานจริงให้กับนักศึกษา และเป็นพื้นที่ทางเลือกในการท่องเที่ยวและพักผ่อน โดยต่อยอดองค์ความรู้จากฐานการเรียนรู้ด้วยการทดลอง และการเรียนรู้โดยในฐานการวิจัย ไปสู่ชุมชนและประชาชนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างยากที่จะคาดเดา รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นทั้งในด้าน People, Ecological และ Spiritual และนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่การเป็น Great Place to Live พร้อมเป้าหมายในการสร้างสวนพรรณไม้หมุนเวียนตลอดทั้งปี

รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์

รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ดูแลพื้นที่เกือบ 1 ใน 3 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงในการดูแลพื้นที่ให้เหมาะกับการอยู่อาศัย เพราะฉะนั้นสิ่งที่พยายามดำเนินการในขณะนี้คือการวางแผนตลอดทั้งปีในการนำพืชต่างๆ ปลูกหมุนเวียนในพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความสวยงามเท่านั้น แต่เป็นการให้นักศึกษาได้เรียนรู้และสร้างรายได้ไปพร้อมกัน จึงได้วางแผนให้แต่ละเดือนสามารถปลูกพืชที่สอดคล้องกับสภาพอากาศและฤดูกาล ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ได้เริ่มดำเนินการ ทำให้บางอย่างยังต้องมีการปรับปรุงและพัฒนา โดยในปีถัดไปจะสามารถวางแผนตามปฏิทินได้ อาทิ ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีแปลงกังหัน ในช่วงเดือนมกราคมจะได้เจอพรรณไม้ เช่น ดอกคัตเตอร์ และดอกมาร์กาเร็ตสีสันต่างๆ หรือในช่วงหน้าฝนอาจจะได้พบกับดอกปทุมมา ซึ่งทางคณะเกษตรศาสตร์พยายามอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดการจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนโยบายในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ การเรียนการสอน รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยือน

คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ในส่วนอุทยานเทคโนโลยีการเกษตรมีความสอดคล้องกับนโยบายของทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะเกษตรศาสตร์ว่า โดยเบื้องต้นได้มองถึงเรื่องการปรับระบบนิเวศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้มีสภาพแวดล้อมที่น่าเรียนน่าอยู่ สู่การเป็น Great Place to Live โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการเรียนการสอน กิจกรรมนี้จึงอยู่ในส่วนของ Education Transformation ในแง่ที่นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติเรียนรู้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับการเรียนรู้ด้วยการทดลอง (Experiential Learning) และการเรียนรู้โดยในฐานการวิจัย (Research-Based Learning) นักศึกษาเรียนรู้การผลิตและการวิจัย ซึ่งไม่เพียงแค่สร้างองค์ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำความรู้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหา สิ่งสำคัญอีกประการคือการเสริมสร้างทักษะให้กับนักศึกษา จะเห็นว่ากิจกรรมนี้ตอบโจทย์ในส่วนของการพัฒนาคน รวมถึงคณาจารย์ได้ร่วมดูและและแนะนำนักศึกษา รวมถึงอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา เกิดผลพลอยได้ที่ยิ่งใหญ่คือการได้ปรับปรุงสภาพระบบนิเวศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น เป็นการเปิดบ้านให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นจุดพักผ่อนอีกด้วย ซึ่งหลายท่านมองว่าการระบาดของโรคต่างๆ ส่วนใหญ่คนจะออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่ที่เปิดโล่ง น่าจะเป็นอีกพื้นที่ที่จะรองรับคนในมหาวิทยาลัยขอนแก่นรวมถึงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเข้ามาพักผ่อนในช่วงเย็น และแน่ใจว่าพื้นที่ตรงนี้จะปลอดโรค

พร้อมนี้ รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร ได้เพิ่มเติมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากองค์ความรู้ต่อยอดสู่การพัฒนาชุมชนว่า นอกจากการเรียนรู้ของนักศึกษาแล้วการพัฒนาพื้นที่และการปลูกพืชดอกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตยังสอดคล้องและตอบสนองโครงการของกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่ได้ดำเนินการคือโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ซึ่ง 1 ใน 4 ของกิจกรรมภายในโครงการจะมีเนื่องของการเพิ่มรายได้ด้านการเกษตร รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป การพัฒนาสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งพื้นที่นี้จะกลายเป็นต้นแบบให้กับชุมชนที่มีศักยภาพ สร้างการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านและชุมชน เกิดการพัฒนาในหลายบริบท แต่หลักใหญ่คือมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีระบบนิเวศน์ที่ดีขึ้นและนักศึกษาได้เรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ก็คือมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น มีแหล่งสันทนาการ มีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้คืนประโยชน์ให้กับสังคม

สำหรับแนวคิดการนำไม้ดอก อาทิ ดอกคัตเตอร์ และดอกมาร์กาเร็ต ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นแหล่งเรียนรู้พร้อมกับการพัฒนาภูมิทัศน์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร กล่าวว่า ตั้งแต่ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร ทางคณะเกษตรศาสตร์ได้มีการวางแผนว่าทั้งปีควรจะมีการปลูกพืชโดยเฉพาะพืชไม้ดอก เพื่อส่งเสริมภูมิทัศน์ให้สวยงาม และการปลูกไม้ดอกจะเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นที่ดึงดูด ทั้งนี้ทางคณะเกษตรได้พัฒนาภูมิทัศน์ที่เป็นแหล่งดึงดูดผู้สนใจและเป็นที่ทราบกัน คือ แปลงกังหัน ซึ่งส่วนนั้นจะเปิดให้เข้าชมในช่วงเดือนธันวาคม และมองว่าหลังจากเดือนธันวาคมแล้วควรจะมีแปลงดอกไม้ จึงได้พูดคุยนักศึกษาระดับปริญญาตรี ส่วนหนึ่งของบัณฑิตพันธุ์ใหม่ คือ หลักสูตรเกษตรนวัตกรรม จึงได้มีการหารือและมีข้อสรุปให้ปลูกไม้ตัดดอกจึงเล็งเห็นว่าควรปลูกดอกคัตเตอร์ ซึ่งมีนักศึกษาที่ได้ทำแปลงไม่ตัดดอกที่จังหวัดอุดรธานีพร้อมกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จ และได้มองว่าทางคณะเกษตรควรจัดทำแปลงดอกคัตเตอร์และดอกมากาเร็ต ในส่วนแปลงคัตเตอร์ได้มีการเลือกปลูกดอกสีขาว เนื่องจากนักศึกษาเล็งเห็นว่ามีราคาดีที่สุด โดยในเบื้องต้นมองว่าเป็นการพัฒนาพื้นที่ให้สวยงาม และเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย แต่พอมาถึงระยะเวลาที่จะเก็บเกี่ยวและตัดผลผลิต กลับมีปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จากเดิมที่ดอกไม้ควรได้ราคาที่ดีแต่ราคากลับลดลงมาครึ่งหนึ่ง จึงได้มีการหารือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ในเบื้องต้นทางนักศึกษามีความกังวลโดยเฉพาะการทำเป็นแหล่งเที่ยวเนื่องจากเกรงว่าจะซ้ำซ้อนและเหมือนกับแปลงกังหัน แต่เนื่องด้วยระยะเวลาที่แตกต่างกันจึงได้ปรับกิจกรรมให้เป็นแปลงดอกไม้สำหรับการท่องเที่ยว พร้อมกับผู้ที่มาท่องเที่ยวจะได้รับดอกคัตเตอร์กลับบ้านคนละ 1 ช่อ

คณบดีคณะเกษตรศาสตร์  เพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมนี้นักศึกษาได้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการเรียนรู้กระบวนการผลิตซึ่งเป็นศาสตร์ของนักศึกษาที่ต้องได้เรียนรู้กระบวนการในส่วนนี้ รวมไปถึงการวางแผนการตลาด ช่องทางการจำหน่ายผลผลิต อีกทั้งมีการสำรวจตลาดภายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น รวมถึงผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อดอกไม้ส่วนใหญ่สามารถปลูกได้ทั่วไป แต่แปลงคัตเตอร์ของคณะเกษตรศาสตร์ โดยนักศึกษาหลักสูตรเกษตรนวัตกรรมมีจุดเด่นที่ความสดใหม่ โดยเก็บเกี่ยวพร้อมตัดแต่งตัดผลผลิตและสามารถจัดส่งได้ภายใน 1 วัน ทำให้ดอกไม้สามารถอยู่ได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดขาย แต่เมื่อราคาลดลงอย่างมากจึงเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว อาจจะไม่ได้พื้นที่เที่ยวเท่าแปลงกังหัน แต่ก็เป็นทางเลือกในช่วงเย็นสำหรับนักศึกษา บุคลากร หรือผู้สนใจได้แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมได้ ส่วนหนึ่งในการส่งเสริมพื้นที่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เกิดภาพแวดล้อมในการเรียนการสอนที่ดีมากยิ่งขึ้น นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นการนำนักศึกษาออกมาเรียนรู้นอกชั้นเรียน โดยหัวใจสำคัญในกิจกรรมนี้คือการที่นักศึกษาได้เรียนรู้ในเรื่องการจัดการในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญนักศึกษาได้เรียนรู้และปรับตัวในวันที่การเปลี่ยนแปลงเข้ามาโดยไม่ทันได้ตั้งตัว นักศึกษาสามารถรับมือได้และภายหลังสำเร็จการศึกษานักศึกษาจะเข้าสู่โลกของการทำงานจริงที่มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งไม่สามารถคาดเดาได้ นักศึกษาจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ในวันที่จบการศึกษาไปแล้ว

ข่าว/ภาพ ณัฐวุฒิ จารุวงศ์

Faculty of Agriculture, KKU, creates a new learning space of flowers and tourism, meeting the “Great Place to Live” policy with an aim to have flowers for visitors to see all year round

https://kku.ac.th/8393

 

Scroll to Top