ดอกกัญชา “ช่อปฐมฤกษ์” มข.ตัดเพื่อวิจัย พัฒนาหวังใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน

         เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15.00 น. สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีตัดช่อดอกกัญชา ช่อปฐมฤกษ์  โดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี  และศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวรายงานความเป็นมาของพิธีตัดช่อดอกกัญชา  โดยมี นายวรทัศน์ ธุรีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  รองศาสตราจารย์ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์  ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร  หัวหน้าโครงการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น    ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4   ปลัดจังหวัดขอนแก่น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ป้องกันจังหวัดขอนแก่น  ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร  คณาจารย์  และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานจำนวนมาก ณ หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี

         ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี  กล่าวว่า  “สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาและกัญชงเพื่อการนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ในมนุษย์และสัตว์ รวมไปถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ มีการวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์ การวิเคราะห์สารสำคัญ รูปแบบยา และการวิจัยคลินิกทางการแพทย์และสัตวแพทย์ ศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธุ์กัญชา เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ได้รับหนังสือสำคัญผลิต (ปลูก) กัญชา (ตาม หนังสือสำคัญ ที่ 12/2563 (ปลูก)) ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่แรกในจังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับอนุญาตให้มีการปลูกกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยฯ ซึ่งในการตัดช่อดอก: ช่อปฐมฤกษ์ ในครั้งนี้ เป็นการตัดช่อดอกจากพืชกัญชาที่ปลูกในรอบที่ 1 ซึ่งจะได้นำไปวิเคราะห์ทดสอบสายพันธุ์และสารต่างๆ ที่มีในกัญชาที่ปลูกในครั้งนี้ เพื่อนำไปพัฒนาสายพันธุ์และนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป   เชื่อว่าการศึกษาวิจัยกัญชาและกัญชงของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนี้ จะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ รวมไปถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ มีการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาและกัญชง ให้กับวิสาหกิจชุมชน ชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐบาล เอกชน และการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายที่ บังคับใช้ ตลอดจนเป็นสถาบันวิจัยที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล เพื่อเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารต่างๆ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสาธารณชน ของจังหวัดขอนแก่นต่อไป”

         “ช่อดอกกัญชาที่ตัดได้ในคราวนี้ จะส่งต่อไปที่ส่วนที่เราเรียกว่ามีการสกัดสารซึ่งได้รับการอนุญาตจากทางองค์การอาหารและยาอนุญาตให้เป็นพื้นที่ในการสกัดสารสำคัญที่เราต้องการ  ปัจจุบันมีอยู่ 2 ตัวก็คือสาร cbd สาร CBD (Cannabidiol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่เรียกว่าสารเมา ซึ่งมีประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งคู่  เนื่องจากสายพันธุ์ที่ตัดในวันนี้มีอยู่ 3 สายพันธุ์  ก็จะมีการเปรียบเทียบว่าเมื่อปลูกในระบบปิดควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมแสงแล้วจะได้ปริมาณสารอย่างไร   จากนั้นเมื่อสกัดสารเสร็จก็จะส่งต่อไปที่คณะเภสัชศาสตร์ เพื่อไปทำพัฒนารูปแบบการให้เป็นยา ซึ่งในปัจจุบัน จะเป็นแพทย์แผนไทยที่ใช้เป็นลักษณะของการใช้หยดใต้ลิ้นอย่างเดียว​  โดนไม่ทราบปริมาณของสารสำคัญ  ทางคณะเภสัชศาตร์ก็จะมีการพัฒนาต่อไปว่า การใช้หยดระบบใต้ลิ้นก็ต้องให้ทราบว่ามีปริมาณหรือสัดส่วน 1 ต่อ 1 หรือว่าสัดส่วน 2 ต่อ 1 เพื่อให้ทางการแพทย์ใช้ต่อไป  นอกจากนี้ก็ยังได้รับอนุญาตจากอย.ให้พัฒนาอีก 7 ผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตเป็นเม็ดอม  ผลิตเป็นแผ่นแปะ  ผลิตเป็นยาเหน็บทวารสำหรับผู้ป่วยที่ติดเตียง เป็นต้น  ซึ่งพอพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวนี้เสร็จ  ก็จะส่งต่อไปยังคณะแพทยศาสตร์  ซึ่งมีนายแพทย์ที่สนใจศึกษาวิจัยทางด้านโรคต่าง ๆ ที่ใช้ยาจากกัญชาประกอบเป็นสารสำคัญในหลายโรค   ตัวอย่างเช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็งรังไข่  โรคสะเก็ดเงิน และยังมีโรคอื่นอีกหลายโรค ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์กำลังทำเรื่องขอจริยธรรมวิจัยในมนุษย์อยู่  เมื่อเรามีผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้วก็จะนำไปศึกษาอย่างจริงจังเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง“

         “สำหรับต้นกัญชาที่ปลูกในชุดนี้เป็นชุดแรก  มีประมาณ 35 ต้น ที่ปลูกระบบปิดในตู้คอนเทนเนอร์ ในพื้นที่ 10 ตารางเมตร  หนึ่งปีปลูกได้ 3 ชุด รวมประมาณ 100 ต้น  และในขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับอนุญาตให้ปลูกในชุดที่สองในระบบโรงเรือนพลาสติก ในพื้นที่ 2 ไร่ โดยได้คะแนนในการปลูกเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม 100 คะแนนเต็มจากองค์การอาหารและยา จึงจะขยายการปลูกได้อย่างรวดเร็ว  โดยสามารถผลิตได้ชุดละ 500-700 ต้น ปลูกได้ปีละ 3 รอบ รวมปีละประมาณ 2,000 ต้น  ก็จะเป็นการผลิตช่อดอกกัญชาที่สมบูรณ์มากเหมือนผลิตในเชิงอุตสาหกรรม และรองรับคนที่จะมาใช้ประโยชน์ได้

         “มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ได้มองครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก่อนที่จะมีการใช้จริง นอกจากนี้เรายังมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์รองรับและมีแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญในการใช้ยา  ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองก็มีความตั้งใจดูแลคนป่วยในลักษณะของแพทย์แผนปัจจุบัน ถ้าหากเราสามารถพัฒนากัญชาให้เป็นเรื่องของแพทย์แผนปัจจุบัน และให้แพทย์สมัยใหม่ได้เห็นความสำคัญของการใช้กัญชาเราในรูปแบบต่าง ๆ ก็จะทำให้มีการรักษาที่หลากหลายขึ้น และมีประสิทธิภาพมาก อนาคตอาจจะไม่ต้องพึ่งยาจากต่างประเทศ”

ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร  หัวหน้าโครงการโครงการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

            ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร  กล่าวว่า “สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์  ทำหน้าที่ผลิตกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งดำเนินงานภายใต้มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยมีหลายภาคส่วน หรือหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วม  เริ่มต้นจากการผลิตโดยคณะเกษตรศาสตร์  หลังจากที่เราผลิตเสร็จแล้วก็จะส่งต่อไปที่คณะวิทยาศาสตร์ซึ่งใช้พื้นที่ ในการสกัดที่อุทยานวิทยาศาสตร์  จากนั้นเมื่อได้น้ำมันที่สกัดแล้ว ก็ส่งไปที่คณะเภสัชศาสตร์เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  ซึ่งผู้ที่มีส่วนนำไปใช้ประโยชน์จริง ๆ คือคณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลศรีนครินทร์  และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

         “งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกัญชาใช้ได้กับสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ อย่าง เริ่มต้นจริง ๆ ก่อนที่นำมาใช้กับคนอย่างก็ต้องผ่านสัตว์ทดลองก่อน   เมื่อใช้กับสัตว์ทดลองแล้วก็จะเห็นผลว่ามันใช้กับสิ่งมีชีวิตได้   ก็สามารถนำมาใช้ในเรื่องของปศุสัตว์ และทางการรักษาสัตว์ได้ ซึ่งประโยชน์ที่สำคัญของกัญชาที่เห็นชัดเจนคือ มีผลต่อระบบประสาท โดยเฉพาะสภาวะเครียดในสัตว์  ในปัจจุบันการผลิตสัตว์ในเชิงพาณิชย์จะเลี้ยงในจำนวนมาก  หากเกิดว่าเกิดสภาวะเครียดก็จะมีผลทำให้เจริญเติบโตได้ไม่ดี  การช่วยให้เขาลดสภาวะเครียดได้ก็อาจจะมีส่วนช่วยทำให้การเจริญเติบโตดีขึ้น   ส่วนการนำไปใช้ในคนก็ใช้ได้หลายส่วนเกี่ยวข้องกับสภาวะเครียดเช่นกัน ตอนนี้ก็จะสามารถช่วยได้ เช่นอาการนอนไม่หลับอย่างนี้นะครับก็จะทำให้คนที่ต้องใช้ยานอนหลับหรือว่าพักผ่อนไม่เพียงพอก็สามารถนำสารสกัดเหล่านี้อาจจะไปใช้ประโยชน์ในด้านนี้ได้  ทางคณะแพทยศาสตร์เองก็มีโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาประมาณ 9 โครงการ ในหลายแผนกที่จะนำสารสกัดกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์

         “ขณะนี้เราผลิตกัญชามาเพื่อใช้ในการวิจัยประโยชน์ในทางการแพทย์  ซึ่งหากมีผลทางการแพทย์ยืนยันในเชิงของงานวิจัยตีพิมพ์อะไรชัดเจนว่าปลอดภัย   การผลิตในเชิงพาณิชย์ก็จะเป็นขั้นตอนถัดไปที่จะสามารถนำมาจำหน่ายได้  คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี  แต่กัญชาตอนนี้ยังเป็นสารเสพติดประเภท 5 อยู่  จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในเรื่องของการผลิต  ดังนั้น  ถ้าหากมุ่งเน้นในเรื่องของการวิจัยให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนที่ถูกต้องแล้ว และก็กฎหมายเอื้ออำนวยในเรื่องของการทำวิจัยด้วยมันก็จะทำให้กระบวนการทำงานในการพัฒนาการวิจัยสามารถไปได้เร็วขึ้นได้”

ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา

         ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา  กล่าวว่า  “ในการจัดพิธีตัดช่อดอกกัญชา สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น : ช่อปฐมฤกษ์ ครั้งนี้ ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ซึ่งสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีภารกิจหลักในการดำเนินโครงการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินงานวิจัยกัญชาแบบบูรณาการ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่คณะเกษตรศาสตร์มีการศึกษาวิจัยด้านการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดสำคัญจากผลผลิตที่ได้จากกัญชา คณะเภสัชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากกัญชา และคณะสัตวแพทย์มีการศึกษาวิจัยด้านการนำวัสดุเศษเหลือจากการศึกษาวิจัยกัญชาด้านต่างๆ ไปพัฒนาเป็นอาหารสัตว์”

         “สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ยังได้ดำเนินโครงการวิจัยพืชกัญชง-กัญชา เพื่องานวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์ การวิเคราะห์สารสำคัญ รูปแบบยา และการวิจัยคลินิกทางการแพทย์และสัตวแพทย์ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินการด้านต่างๆ แล้ว ซึ่งกัญชาที่ครบกำหนดตัดช่อดอกในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธุ์กัญชา เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับใบนุญาตในผลิต (ปลูก) กัญชา (ตามหนังสือสำคัญ ที่ 12/2563 (ปลูก)) ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่แรกในจังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัย จำนวนพื้นที่ ในการเพาะปลูก 20 ตารางเมตร ณ หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 72 ต้น/ รอบ (3 รอบ/ปี) ซึ่งได้ดำเนินการปลูกตั้งแต่เดือน เมษายน พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้รับอนุญาตให้ครอบครองเมล็ดเพื่อปลูก จำนวน 101 เมล็ด (ตามหนังสือสำคัญ ที่ 23/2563) สถานที่ครอบครองอยู่ที่หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งกัญชาที่ครบกำหนดตัดช่อดอกในวันนี้ เป็นกัญชาที่ปลูกในรอบที่ 1 ซึ่งจะได้มีการเก็บช่อดอกเพื่อประเมินสายพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมในการนำไปใช้ในทางการแพทย์ต่อไป”

ข่าว/ภาพ   :   วัชรา  น้อยชมภู

The first blooming of cannabis at KKU cut for research on its use as present-day medicine

https://www.kku.ac.th/8153

Scroll to Top