เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ พร้อมด้วย นายตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วย รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจรานัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร คณะศึกษาศาสตร์ ผศ.ดร.วีระชัย สาระคร หัวหน้าทีมพัฒนานวัตกรรมวิชาคณิตศาสตร์ โครงการ KKU Smart Learning ตัวแทนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือ ณ ห้องสมุดภูมิภิรมย์ อาคาร 50 ปี วิศวะรวมใจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สำหรับ การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับคุณภาพครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา พร้อมพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในสาขาวิชาวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง โดยการพัฒนาหลักสูตรในการอบรม และหลักสูตรการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สำหรับครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียน ร่วมกันระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับสถาบัน Education for Competency Achievement Institute (EdCA)
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มียุทธศาสตร์และนโยบายในการปรับรูปแบบการศึกษา หรือ Education Transformation เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้อง ยืดหยุ่นกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะให้ยุคหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมจะมีเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทในวงการต่าง ๆ มากมาย ที่สำคัญคือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งมีพื้นฐานมาจากวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง ดำเนินการ AI for Education โดยการนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการศึกษา และใช้เพื่อการเรียนรู้ และ Education for AI เป็นการนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยสร้างอาชีพให้กับผู้เรียน เชื่อว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และภาคเอกชนมีศักยภาพในการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับตลาดงานใหม่ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะการสร้างพื้นฐานวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้งให้กับผู้เรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อในการร่วมมือพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้สาขาวิชาวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง รวมถึงการขับเคลื่อนพัฒนายกระดับคุณภาพครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาในสาขาวิชาวิทยาการคำนวณ และโค้ดดิ้ง กับบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)นับเป็นจุดเริ่มต้น เป็นก้าวแรกและก้าวที่สำคัญของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จะเป็นผู้นำทำให้องค์ความรู้อันเกี่ยวเนื่องกับวิทยาการคำนวณ และโค้ดดิ้ง ขยายผลออกไปในวงกว้างสร้างประโยชน์ในแวดวงการศึกษา เป็นการทำสิ่งดีให้กับประเทศ ช่วยพัฒนาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ในปัจจุบันและอนาคต
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศกรรมศาสตร์ และคณะที่ร่วมในการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้มีความยินดีอย่างยิ่งในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ดำเนินนโยบาย Education Transformation อาทิ การเปลี่ยน Teaching Paradigm สู่การเป็น Learning Paradigm ซึ่งจากเดิมที่เน้นการสอนมาเป็นการเน้นการเรียนรู้ สู่กระบวนการสร้างความคิดให้กับผู้เรียน รวมไปถึง Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ทุกช่วงวัยสามารถศึกษาและเรียนรู้ได้ โดยมีหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสามารถเรียนออนไลน์ หรือ interactive โดยเน้นความสนใจเป็นหลัก และสามารถเรียนซ้ำเพื่อให้ได้เกรดที่สูงขึ้นได้ วิชาที่เรียนสามารถเก็บสะสมได้ เมื่อครบตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาก็จะสามารถยื่นรับปริญญา เป็นต้น
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร เพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เน้นในการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการเรียนรู้ทักษะ วิทยาการคำนวณ ซึ่งเป็นศาสตร์จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการคิด เชิงวิเคราะห์ สามารถใช้เพื่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมถึงทักษะการโค้ดดิ้ง จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะในการสร้างชุดคำสั่งเพื่อใช้สั่งงานคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้เรียนสามารถนำเทคโนโลยีมาพัฒนาปรับใช้ในการใช้ชีวิต อาชีพ การงาน และสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ทักษะดังกล่าวเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก เช่นเดียวกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐอินเดีย มีการหลักสูตรและเรียนรู้โค้ดดิ้งในระดับอนุบาล ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ รวมถึงทักษะการช่วยเหลือตนเอง พร้อมกับใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ สมาร์โฟน แทปเล็ต และอุปกรณ์อื่นๆ เป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็ก ทั้งนี้การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้สาขาวิชาวิทยาการคำนวณ และ โค้ดดิ้ง รวมถึงการขับเคลื่อนพัฒนายกระดับคุณภาพครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาในสาขาวิชาวิทยาการคำนวณ และโค้ดดิ้ง สร้างประโยชน์ในการเตรียมความพร้อม เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาการคำนวณ และโค้ดดิ้งให้แก่ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีเสถียรภาพต่อไป
นายตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นผู้นำด้านการศึกษา ซึ่งในขั้นแรกได้เริ่มต้นจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และจะมีการต่อยอดและขยายผลในอนาคต เป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างห้องเรียนที่ดีเกี่ยวกับวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง ให้เกิดขึ้นให้เกิดขึ้นในวงกว้าง จากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีการเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี
KKU led by 4 faculties signs MOU with Aksorn Education to upgrade calculation and coding knowledge – a step towards AI
https://www.kku.ac.th/7794
ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการและนำเสนอผลงานที่เกี่ยวกับสาขาวิชาวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง อาทิ กิจกรรมการควบคุมหุ่นยนต์สำเร็จรูปด้วยบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ กิจกรรมการเขียนโค้ดดิ้งผ่าน Blocked programming กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) หนึ่งในแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่เหมาะสมกับการศึกษายุคใหม่โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง พร้อมสาธิตการเรียนการสอนหลักสูตร Coding for Kids ในชั้นเรียนจำลอง ทั้งนี้ วิชาวิทยาการคำนวณถือเป็นวิชาที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ทำการบรรจุให้อยู่ในสาระพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ซึ่งถือเป็นศาสตร์ที่จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ วางแผนอย่างเป็นระบบ สามารถแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลเชิงตรรกะ และสร้างสรรค์นวัตกรรมได้
>> คลิกชมภาพกิจกกรรมเพิ่มเติม <<
ข่าว/ภาพ ณัฐวุฒิ จารุวงศ์