สำนักข่าว: ขอนแก่นลิงก์
URL: ลิงก์
วันที่เผยแพร่: 31 ส.ค. 2563
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 31 ส.ค.2563 ที่ห้องรับรองพิเศษ ศาลาช่อกาลพฤกษ์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เป็นประธานในการแถลงข่าว นักวิจัยพบสื่อมวลชน ประจำเดือน ส.ค.2563 ในหัวข้อแผ่นรังไหมรับแรงกระสุน จากผลงานวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ท่ามกลางความสนใจจากนักวิชาการ นักวิจัย รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.กล่าวว่า ผลงานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน เดิมผลงานวิจัยที่ผ่านมาสามารถป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ทุกชนิด วันนี้เป็นการต่อยอดผลงานวิจัยที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร หรือกระสุนปืนขนาด M16 ที่เป็นอาวุธที่ใช้ทางทหาร รองรับการปฎิบัติงานในกลุ่มอาวุธสงคราม ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำ 2 รุ่น คือรุ่นน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม และรุ่นน้ำหนัก 1.6 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่าแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่ใช้ในเสื้อเกราะกันกระสุนทั่วไปในปัจจุบัน 2-3 เท่า ซึ่งเสื้อเกราะดังกล่าวนอกจากน้ำหนักเบาแล้วแผ่นรังไหมยังสามารถหยุดจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบ เนื่องจากพบว่าการใช้แผ่นโลหะทำให้กระสุนเกิดการแฉลบซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ และหากเปรียบเทียบคุณสมบัติที่ดีกว่าเกราะอ่อนกันกระสุนที่ทำจากเคฟลาร์ ซึ่งพบว่าแผ่นรังไหมรับแรงมีราคาถูกกว่าและยังสามารถป้องกันอาวุธมีคม ซึ่งไม่สามารถแทงทะลุแผ่นรังไหมได้แต่สามารถแทงทะลุเกราะอ่อนได้
สำหรับการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.จะมีกระบวนผลิตที่แตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น โดยยังใช้รังไหมที่มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ต้านทานแรงกระแทกได้ดี แต่เพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงน้ำยาชนิดพิเศษเพื่อให้วัสดุต่างๆ ยึดเกาะกัน ทำให้ได้แผ่นรังไหมที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.หรือกระสุนปืน M16 ได้ ซึ่งแตกต่างจากแผ่นรังไหมเดิมที่รับได้เฉพาะแรงกระสุนปืนสั้นเท่านั้น และแม้ว่าจะนำมาซ้อนกันถึง 4 แผ่น แต่กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. ก็สามารถทะลุได้ ต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงที่คิดค้นสำเร็จในวันนี้
ผศ.ดร พนมกร กล่าวต่ออีกว่า จากผลการวิจัยของ มข.ทำให้ขณะนี้มีแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น ซึ่งมี 3 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นน้ำหนัก 0.9,0.75 และ 0.55 กิโลกรัม และแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งมี 2 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นน้ำหนัก 2 และ 1.6 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และผลงานวิจัยนี้นั้นได้ทำการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว