สำนักงานสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Generative AI Essentials for Organizational Boards เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายที่เหมาะสมในการนำ Generative AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ณ ห้องสิริคุณากร 3 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร โดยมีคณะกรรมการสภา ผู้บริหารระดับสูง รองอธิการบดี และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วม เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
|
|
การอบรมได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ บรรยายหัวข้อ “Understanding Generative AI: Capabilities and Limitations” และ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล บรรยายหัวข้อ “Generative AI Governance and Risk Management” พร้อมกิจกรรม Workshop “Hands-on Experience with Generative AI Tools”

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงนโยบายระดับมหาวิทยาลัยว่า สภามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในฐานะเครื่องมือสำคัญสำหรับปัจจุบันและอนาคต โดยมุ่งเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน เสริมสร้างขีดความสามารถแก่กรรมการสภาและผู้เกี่ยวข้อง พร้อมใช้แอปพลิเคชันที่เหมาะสมสนับสนุนการทำงาน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของมหาวิทยาลัย โดยมุ่งใช้ประโยชน์จาก AI ให้มากที่สุดและลดผลกระทบด้านลบให้เหลือน้อยที่สุด

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แนวทางการนำ AI ไปใช้ในวงการศึกษาว่า ปัจจุบัน AI มีบทบาทสำคัญในการศึกษาและไม่สามารถห้ามผู้เรียนเข้าถึงได้ ผู้สอนควรใช้ AI เป็นเครื่องมือในการเตรียมการสอน โดยวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ นำเนื้อหาจาก AI มาวิพากษ์ร่วมกับนักเรียนในห้องเรียน ชี้ให้เห็นทั้งจุดที่น่าเชื่อถือและไม่น่าเชื่อถือ กระบวนการนี้จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังเสนอแนะให้มีการอบรมอาจารย์เกี่ยวกับการใช้ AI อย่างเหมาะสม โดยผู้สอนควรเป็นแบบอย่างในการใช้ AI อย่างมีวิจารณญาณ

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต้องเตรียมนักศึกษาให้พร้อมทำงานในยุค AI โดยสามารถใช้เครื่องมือ AI ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบัณฑิตที่ขาดทักษะด้าน AI จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานอนาคตได้ การพัฒนาต้องเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งอาจารย์และนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยได้ประกาศนโยบายการใช้ AI ครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ การศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการปลูกฝังให้นักศึกษาใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล ซึ่งเป็นวิทยากรในการอบรม เน้นย้ำว่าสาระสำคัญของหัวข้อ Generative AI Governance and Risk Management คือการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยงในการใช้ AI อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายบนพื้นฐานของความรู้ที่ถูกต้อง สภามหาวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะ Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงแสดงบทบาทความเป็นผู้นำทั้งในด้านนโยบายและเทคโนโลยี โดยคณะกรรมการสภาและผู้บริหารมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับ AI ร่วมกันและนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เผยแพร่ ประกาศ(ฉบับที่ 309/2568) ประกาศณวันที่ 30 มกราคม 2568 เรื่อง นโยบายความสามารถและจริยธรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Khon Kaen University Al Policy for Proficiency and Ethicality) มีหลักการสำคัญ ดังนี้
1. สนับสนุนการใช้และการพัฒนา (AI Proficiency and Literacy)ให้ความสำคัญกับการผนวกความรู้และทักษะ ปัญญาประดิษฐ์ ในทุกสาขาวิชา รวมถึงการใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการองค์กร
2. สร้างวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์ปัญญาประดิษฐ์ (AI Culture)สร้างความตระหนัก ส่งเสริมการฝึกอบรมและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรปรับตัวทันต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
3. คำนึงถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบ (AI Ethics and Responsibility)ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างโปร่งใส คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และปฏิบัติตามหลักคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ หลักความเป็นธรรมและความเท่าเทียม
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : บริพัตร ทาสี / เบญจมาภรณ์ มามุข
ลิ้งก์บรรยากาศการอบรม Generative AI Essentials for Organizational Boards