“มข.”แนะเปลี่ยนบทบาทครู เฟ้น!สร้างเด็กไทยยุคใหม่

สำนักข่าว: บ้านเมือง
URL: https://www.banmuang.co.th/news/region/202790
วันที่เผยแพร่: 17 ส.ค. 2563

มข.จัดอบรมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ พร้อมแนะต้องเปลี่ยนบทบาทครู มุ่งสร้างเด็กไทยยุคใหม่ คิดเป็น วิเคราะห์ได้

เมื่อที่ 17 ส.ค.ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)จัดพิธีเปิด การอบรมการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online Learning) โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในงาน รศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน ในการนี้มี คณาจารย์ นักศึกษา ผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมจำนวนทั้งสิ้น 410 คน ทั้งในส่วนการเข้าร่วมในพื้นที่ ณ อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน 57 คน และ เข้าร่วมผ่านทางออนไลน์ ผ่านโปรแกรม ZOOM และ YOUTUBE LIVE 353 คน

รศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มข.กล่าวถึงที่มาในการจัดงานว่า COVID-19 ทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับการศึกษาทุกระดับ ผู้สอนกับผู้เรียนไม่สามารถอยู่ในชั้นเรียนเดียวกันได้ในเชิงกายภาพ หรือ การจัดการเรียนการสอนแบบชั้นเรียน (Classroom-based Instruction) แบบเดิมต้องจัดภายใต้เงื่อนไข Social Distancing ซึ่งทำให้การจัดการเรียนการสอน ต้องกลายเป็นการจัดการเรียนการสอนทางไกล (Distance Learning) ซึ่งตอนนี้เรียกกันในชื่อว่า การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์” (Online Learning)

“มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง: การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online Learning) ภายใต้โครงการการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา (New Educational Paradigm) เพื่อให้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิชาการ นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจได้มีความรู้ความเข้าใจ เห็นภาพและแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online Learning) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในยุคการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล (Digital Transformation Era)”รศ.ดร. ไมตรี กล่าว

ด้านรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.กล่าวว่า ตอนนี้ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเราต้องการทำ Education Transformation เบื้องหลังแนวคิด คือ เรารู้ว่าปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยในเมืองไทย สอนเหมือนกับ ประถม มัธยม คือสอนเด็กให้จำความรู้ ไม่ให้เด็กได้คิด เพราะฉะนั้นจึงเป็นการส่งต่อความรู้จากอาจารย์ไปสู่นักเรียน ซึ่งทั่วโลกเปลี่ยนหมดแล้ว เพราะตอนนี้ความรู้มีเต็มไปหมดในโลกอินเตอร์เน็ต อาจารย์ไม่ได้รู้หมด บางเรื่องเด็กไปค้นคว้า รู้เท่ากับอาจารย์ หรือ อาจจะรู้มากกว่าอาจารย์ เพราะฉะนั้นหมดสมัยที่อาจารย์จะถ่ายทอด ความรู้ของอาจารย์ไปสู่เด็ก
เพราะฉะนั้นการบรรยายออนไลน์ต้องเติมเต็มด้วยความคิด เด็กจะค้นคว้าหาความรู้ดีขึ้นได้อย่างไร เราจะต้อง construct knowledge หรือ ทำให้เด็กสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตัวเขาเองไม่ใช่อาจารย์ถ่ายทอดความรู้จากตัวอาจารย์ส่งต่อไปยังนักเรียน ในยุคใหม่เราต้องการให้เด็กเก่งกว่าอาจารย์ ต้องรอบรู้มากกว่าอาจารย์ ฉะนั้นอาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองจาก Teacher ครูผู้สอน มาเป็น Coaching ผู้สร้างกระบวนการ ในการให้คำแนะนำช่วยเหลือ อาจารย์จะเหนือกว่าเด็กที่ประสบการณ์ การประยุกต์ใช้ความรู้ และ จะต้องกลั่นกรองความรู้ที่แท้จริงให้เด็ก ซึ่งสิ่งนี้เกิดได้ทั้ง onsite การเรียนในห้องเรียน และ การเรียนออนไลน์

ยกตัวอย่างเช่นการจัดกิจกรรม ของ Business School ของมหาวิทยาลัย Harvard ที่อาจารย์จะให้นักศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และมีกระบวนการตรวจสอบว่านักศึกษาเข้าใจเนื้อหา ทฤษฎีจริงหรือไม่ กิจกรรมดังกล่าวชื่อว่า tutorial hours ซึ่งจะเป็นการเจอกันทางออนไลน์ หรือ เจอในห้องเรียน โดยครูจะเป็นคนตั้งคำถามให้เด็กตอบ และ เด็กจะช่วยกันตอบเป็นทีม คนเก่งต้องติวเด็กอ่อน ซึ่งนักศึกษาจะได้ Team based Learning การจัดการเรียนรู้แบบทีม พร้อมกับมีทักษะการสื่อสาร Communication Skill เป็นคุณลักษณะของบัณฑิตสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21’ด้วยเช่นกัน
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวต่อไปว่า เพราะฉะนั้นครูมีหน้าที่วางกลยุทธ์ให้เด็กเรียนรู้ การเรียนออนไลน์เป็นกลยุทธ์หนึ่งให้เด็กเรียนรู้ เพราะฉะนั้นออนไลน์ปรับตัวง่ายที่สุดในสถานการณ์ covid-19 ถ้าใครมีความพร้อมก็ทำบทเรียนออนไลน์ เด็กก็สามารถเรียน ที่ไหน เวลาใดก็ได้ ก็จะง่ายขึ้น แต่ ต้องมีชั่วโมงที่ครูกับนักเรียนต้องมาเจอกัน จะเจอออนไลน์ หรือ on site ก็แล้วแต่ เพื่อมาพูดคุยกัน เปลี่ยนชั่วโมงบรรยายมาเป็นชั่วโมงที่เด็กมาคุยแลกเปลี่ยนกัน เหมือนกับที่มหาวิทยาลัย harvard ใช้คำว่า tutorial hours

สิ่งที่เราต้องไม่ลืมในการสอนออนไลน์ หรือ ทำบทเรียนออนไลน์ คือเราต้องการให้เด็ก สร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง สิ่งที่สำคัญและยากกว่าการสอนออนไลน์ คือ Evaluation หรือ Assessment ซึ่งก็คือการวัดเด็ก เมื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์จาก teaching paradigm เป็น Learning paradigm เราต้องไปให้ถึง assessment ด้วย ไม่เช่นนั้นเราจะล้มเหลว ไปไม่ถึง เพราะถ้าเราสอนแบบใหม่ให้เด็กรู้จักคิด แต่เราวัดความจำ เด็กก็จะไม่เรียนตาม จะท่องมาสอบเพื่อความอยู่รอด เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนให้สุดทาง
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวย้ำว่า  education transform ไม่ได้หมายความว่าออนไลน์เหนือกว่า on site เพราะทั้ง 2 สิ่ง เป็นเครื่องมืออันหนึ่งเท่านั้นในการจัดการศึกษา แต่ บทบาทของครู ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือทำอย่างไรจะทำให้เด็ก คิดเป็น สามารถวิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้ได้ ต้องถือโอกาสนี้ขอบคุณ ในนามของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอขอบคุณฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานของโครงการฯ นี้มาอย่างต่อเนื่องและเต็มศักยภาพ และขอขอบคุณวิทยากรพิเศษ Prof. Dr.Masami ISODA และ Prof.Yutaka OHARA รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกมลวรรณ เจนวิถีสุข และรองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ที่มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วม ขอบคุณผู้บริหารและคณาจารย์ทุกท่านที่เข้าร่วมเป็นเกียรติ และขอบคุณผู้เข้าร่วมอบรมที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวปิดท้าย.

Scroll to Top