เมื่อวันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2563 อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ พร้อมด้วย นายชุมพร พารา ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร นางสาวชุตินันท์ พันธ์จรุง นักประชาสัมพันธ์ และนายบรรจง เศษวิสัย พนักงานรายการวิทยุ ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านสื่อวิทยุภายในจังหวัดขอนแก่น ในการนำองค์ความรู้เผยแพร่กระจายเสียงสู่ชุมชน ในครั้งนี้ ได้ลงพื้นที่สองแห่ง โดยแห่งแรกที่โรงเรียนบ้านโนนม่วง โดยได้พบปะกับผู้แทนโรงเรียน นายทองพูน อนุรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนม่วง และ นางจิตรลดา ประเสริฐนู ครูผู้สอน พร้อมด้วยผู้นำหมู่บ้านโนนม่วง ประกอบด้วย นายเทิดศักดิ์ ธรรมขันต์ นายสุพัฒ วงษ์โก นายหนูรัก ญาณประเสริฐ และ นางสาวณัฐพา ครุฑผาสุก ณ ห้องประชุม โรงเรียนบ้านโนนม่วง และแห่งที่สอง ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก นายชาญศิลป์ หร่องบุตรศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ครูจิตรลดา ประเสริฐนู งานกายภาพบำบัด ครูวิไลวรรณ มิ่งสกุล ครูพยาบาล และครูปทุมวรรณ สิงห์ปัญญา ฝ่ายส่งเสริมความเป็นเลิศ
ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเป็นผู้อุทิศเพื่อสังคมนั้น การนำองค์ความรู้ทางวิชาการในด้านต่างๆ นำเผยแพร่ทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่น F.M.103 Mhz. เป็นช่องทางหนึ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้ส่งถึงประชาชนชุมชนรอบข้างได้อย่างกว้างขวาง ฝ่ายกิจการพิเศษ และกองสื่อสารองค์กร จึงได้จัดโครงการ “สร้างเครือข่ายความร่วมมือเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนมหาวิทยาลัยขอนแก่น”ขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือกับชุมชนรอบข้าง สร้างเครือข่ายวิทยุชุมชน โดยได้มีการลงพื้นที่พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้ทราบความต้องการของชุมชน ทั้งยังได้นำองค์ความรู้ทางวิชาการมอบให้เพื่อเผยแพร่ข่าวสารอันเป็นประโยชน์ส่งต่อถึงประชาชนทางหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นโอกาสเชิญผู้นำชุมชนได้ร่วมกิจกรรมจัดรายการวิทยุสร้างประโยชน์ให้สังคมร่วมกัน
![](https://th.kku.ac.th/wp-content/uploads/2020/06/DSC_6265-1200x795.jpg)
อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ได้กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้หลากหลายวิชา ที่สามารถนำมาถ่ายทอดให้ชุมชนและใกล้เคียงได้เรียนรู้ รวมทั้งนักเรียนในโรงเรียนการมาพบผู้นำชุมชน และคณาจารย์ในโรงเรียนใกล้เคียง ทั้งโรงเรียนบ้านโนนม่วง และโรงเรียนศรีสังวาลย์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเพื่อให้ทราบความต้องการการสนับสนุนองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนหมู่บ้าน และนักเรียนในโรงเรียน จึงได้มอบหมายให้กองสื่อสารองค์กร นำเอาความรู้ในด้านต่าง ๆ ทำเป็นสปอตสั้นๆ เพื่อเผยแพร่ให้สามารถรับรู้ข่าวสารได้ง่าย”
![](https://th.kku.ac.th/wp-content/uploads/2020/06/DSC_6277-1-1200x795.jpg)
![](https://th.kku.ac.th/wp-content/uploads/2020/06/DSC_6277-1-1200x795.jpg)
นายชุมพร พารา กล่าวว่า “โครงการ “สร้างเครือข่ายความร่วมมือเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนมหาวิทยาลัยขอนแก่น” เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมมือกับชุมชนมาระยะหนึ่งในด้านการจัดรายการวิทยุ ทั้งทางผู้นำชุมชนบ้านโนนม่วง และโรงเรียนศรีสังวาลย์ก็เป็นเครือข่ายนักจัดรายการวิทยุด้วย ด้วยสังคมรอบข้างต้องการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขา เราจึงได้นำองค์ความรู้มาผลิตเป็นสารคดี สปอตสั้นๆ มามอบให้กับทางโรงเรียนเพื่อเผยแพร่ทางเสียงตามสาย และมอบให้ผู้นำชุมชนเผยแพร่ทางหอกระจายข่าว ประเด็นต่อมาการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อเชิญผู้นำชุมชนร่วมพบปะกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมจัดรายการวิทยุ รวมทั้งเชิญคณาจารย์และนักเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์ร่วมจัดรายการทางสถานีวิทยุ F.M.103 Mhz. เป็นเครือข่ายรายการวิทยุเพื่อถ่ายทอดความรู้จากความเชี่ยวชาญทางการดูแลผู้พิการ สอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนผ่านสื่อวิทยุอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเข็มแข็ง ให้การสื่อสารช่องทางวิทยุได้รุดหน้า และประเด็นสุดท้าย กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีโครงการประกวด DJ Contest โดยในโครงการจะได้เชิญผู้นำชุมชน อาจารย์ นักเรียน ไปอบรมให้ความรู้ในการเป็นผู้จัดรายการวิทยุ และพิธีกรรายการ กลางเดือนสิงหา ไปแลกเปลี่ยนรู้ และความต้องการที่จะพัฒนา และประเด็นสุดท้ายจะขอความคิดเห็นจากทางชุมชน และโรงเรียน ถึงความต้องการในองค์ความรู้ด้านใดบ้าง เพื่อที่จะให้กองสื่อสารองค์กรจะนำไปผลิตสปอตเพื่อนำมาเผยแพร่ในโรงเรียนต่อไป”
ในการลงพื้นที่พบปะคณาจารย์โรงเรียนบ้านโนนม่วง ผู้นำชุมชนบ้านโนนม่วง และคณาจารย์โรงเรียนศรีสังวาลย์ทำได้รับทราบความต้องการความสนับสนุน่องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อาทิ องค์ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้าน องค์ความรู้ด้านการเกษตร ฯลฯ ในขณะที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ที่ทำหน้าที่สอนและดูแลนักเรียนพิการ นักเรียนพิการซ้ำซ้อน ที่ต้องสอนและดูแลเป็นพิเศษ ยังได้แจ้งถึงความต้องการการสนับสนุนหน้ากากอนามัยผ้าที่เด็กนักเรียนมีความจำเป็นต้องใช้และขาดแคลนอยู่ รวมไปถึงเจลแอลกอฮอล์ที่จำเป็นต้องใช้ในปัจจุบัน และองค์ความรู้ด้านสวนสมุนไพรส่งเสริมสวนพฤกษศาสตร์ศึกษาในโรงเรียน เป็นการดำเนินการเชิงรุกที่ฝ่ายกิจการพิเศษ และกองสื่อสารองค์กร ได้ทำงานอย่างสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นแห่งการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม
ข่าว/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู