สํานักบริการวิชาการ มข. จับมือ 15 ตำบล จากโครงการ U2T โชว์ผลงานเด่น ใช้เครื่องมือดิจิทัล ทำการตลาดสินค้าชุมชนจนขายได้ขายดี!

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 สํานักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย (คบอ.) หัวข้อ “นวัตกรรมการบริการวิชาการสู่สังคมภายใต้ยุคดิจิทัล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs” โดยมี ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดการประชุมวิชาการ รศ.ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชํานาญ ประธาน คบอ.กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อํานวยการสํานักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานการจัดประชุมวิชาการ ในการนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ณ โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น

การประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายบริการวิชาการสถาบันอุดมศึกษาไทย หัวข้อ  “นวัตกรรมการบริการวิชาการสู่สังคมภายใต้ยุคดิจิทัล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs”  ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ ด้านบริการวิชาการ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริการวิชาการแก่สังคม ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานด้านบริการวิชาการของบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งใน และนอกเครือข่ายบริการวิชาการสถาบันอุดมศึกษาไทย และยังเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการบริการวิชาการ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การบริการวิชาการแก่สังคมเป็นพันธกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของทุกมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเป้าหมายในการนำนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัย และ การจัดการศึกษาไปช่วยแก้ปัญหา และ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

“ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ความทันสมัยที่เกิดขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเกิดโรคอุบัติใหม่ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน สงครามการค้า ฯลฯ ทำให้การบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัย ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และ เพื่อทำให้การบริการวิชาการสามารถตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด และ เกิดความยั่งยืน การใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นแนวทางสำคัญในการให้บริการวิชาการภายใต้สังคมยุคใหม่ ฉะนั้นการจัดงานโดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายบริการวิชาการสถาบันอุดมศึกษาไทย (คบอ.) ในครั้งนี้ จึงเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการบริการวิชาการ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทั้งเป็นไปตามหลักการ SDGs เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วย”รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

นางสาว นฤสรณ์  พละสิม สมาชิกกลุ่ม U2T ต. เหล่า อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยการนำผลงานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ชุมชนของตนเองว่า : วันนี้นำผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาออกบูธ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ผ้าห่มโอบอุ่น และ ตะกร้าหวายพลาสติก พายเซ

“เริ่มแรกแบรนด์ผ้าห่มของพวกหนู มีแค่ชื่อแบรนด์ และโลโก้ บรรจุภัณฑ์จะเป็นถุงพลาสติกใส เวลาเก็บก็จะมีขนาดใหญ่เปลืองพื้นที่ ถุงไม่มีความสวยงามและ ดึงดูดความสนใจ แต่เมื่อคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาแนะนำ ให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นถุงสูญญากาศ มีตัวดูดอากาศออกทำให้แพคเกจผ้าห่มมีขนาดเล็กลง นอกจากนี้ยังเพิ่มลวดลายที่ถุงใส่ผ้าห่ม ให้ดูน่าสนใจมากขึ้น และช่วยในเรื่องการขายออนไลน์ โดยแนะนำเกี่ยวกับการโพสต์ Facebook ว่าต้องโพสต์ในเวลากี่โมง คนถึงจะเข้าถึงเยอะ และ คนถึงจะเห็นโพสต์”

“ตอนแรกเป็นการขายปกติผ่านเฟซเหมือนขายของทั่วไป แต่ เราไม่รู้ช่วงเวลาว่าต้องโพสต์เวลาไหนหรือ โพสต์อย่างไรสินค้าจึงจะขายได้ เราคิดอยากจะโพสต์เราก็โพสต์ หรือบางทีแคปชั่นเราก็ไม่ดึงดูดใจ เวลาไลฟ์สดคนก็ไม่อยากกดเข้ามาดู ซึ่งเมื่ออาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาสอน เขาก็จะมาสอนเทคนิคว่า เวลาไลฟ์สดจะต้องมีแคปชั่น หรือ ข้อความบรรยายว่าอย่างไร และ ก็ต้องมีโปรโมชั่นด้วย ทำให้มันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อย่างตอนแรกผ้าห่มขายไม่ค่อยดีเพราะว่า เป็นสินค้าที่ไม่ได้ซื้อบ่อย ต่อมาอาจารย์ก็แนะนำว่าผ้าห่มควรขายช่วงเวลาใด อย่างไร แต่ก่อนลายผ้าห่มก็มีน้อย เพราะผู้ที่ทำจะเป็นผู้มีอายุแล้ว ก็เลือกลายเฉพาะที่ตนเองชอบ ทำให้ลายไม่หลากหลาย อาจารย์ มข.ก็แนะนำให้เพิ่มลายให้คนสนใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งส่วนมากคนจะเลือกซื้อลายใหม่ๆ ทำให้ยอดขายผ้าห่มมีมากขึ้น”

“ในส่วนของตะกร้าพายเซในขณะนั้นยังไม่มีแบรนด์ มีเพียงกลุ่มทำผลิตภัณฑ์ในชุมชน ส่วนมากจะขายเฉพาะคนรู้จัก ซึ่งเมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาช่วยในเรื่องของการทำแบรนด์ พวกเราเลยทำเพจและสร้างแบรนด์ โดยทำโลโก้แบรนด์ขึ้นมา อาจารย์ก็จะคอยแนะนำว่าต้องไลฟ์สดยังไงถึงจะขายของได้ เช่น ต้องแชร์ผ่านกลุ่ม หรือ ชวนเพื่อนมาดู หรือไลฟ์ช่วงเวลาไหน ซึ่งสามารถเพิ่มยอดขายได้เยอะขึ้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ช่วงแรกที่กลุ่มขายเอง กับ ทีมมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปแนะนำ มีความแตกต่างคือ ยอดขายเพิ่มขึ้น และ คนรู้จักมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น หมู่บ้านใกล้ ๆ บางครั้งไม่รู้ ว่าเราทำตะกร้าและผ้าห่มขาย จนเราทำเพจ และ ไลฟ์สดจากนั้นก็แชร์ผ่านกลุ่มของอำเภอ คนในละแวกนั้นก็มาสอบถามและมา ซื้อสินค้ามากขึ้น”

นางสาว นฤสรณ์  กล่าวปิดท้ายว่า “ในการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยอันดับแรกเราแนะนำให้กลุ่มแม่บ้านหรือกลุ่มชุมชนเปิดใจ ว่าอาจารย์หรือผู้ที่ทำงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถช่วยได้จริงๆ ซึ่งการทำงานร่วมกันกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเขาจะให้ความรู้เรา อบรมให้เราสามารถเข้าใจใน ผลิตภัณฑ์ตนเองมากขึ้น บางทีเราคิดว่าเราทำดีอยู่แล้ว แต่เรายังไม่เคยไปดูคนอื่นเขา ซึ่งเขาอาจจะทำดีกว่าเรา ยอดขายเยอะกว่าเรา เพราะฉะนั้นเราควรเปิดใจให้ทางมหาวิทยาลัยหรือคนที่ทำงานเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ เพราะว่าผู้คนเหล่านี้มีความรู้และมีทักษะถ่ายทอดให้เราเข้าใจได้ง่าย ซึ่งจะสามารถช่วยสินค้าของเราให้มียอดขายที่ดีขึ้น”

สำหรับการประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาไทย (คบอ.) หัวข้อ “นวัตกรรมการบริการวิชาการสู่สังคมภายใต้ยุคดิจิทัล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs” มีกลุ่มเป้าหมายเป็นสมาชิกเครือข่ายบริการวิชาการสถาบันอุดมศึกษาไทย ทั้ง 30 สถาบัน นักวิชาการ และผู้สนใจทั่วไป รวมจำนวน 150 คน กิจกรรมประกอบด้วยการแสดงปาฐกถา และการบรรยายพิเศษ การเสวนาทางวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัยและบริการวิชาการในรูปแบบของการนำเสนอแบบปากเปล่า แบบโปสเตอร์ และการตีพิมพ์บทความวิจัยและบริการวิชาการ รวมถึงการแสดงผลิตภัณฑ์จากโครงการ U2T จำนวน 15 ตำบล (ขอนแก่น 9 ตำบล ร้อยเอ็ด 6 ตำบล)

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : นายชาลี พรหมอินทร์

Scroll to Top