อพ.สธ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มข. ประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

อพ.สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ออนไลน์ มีโรงเรียนสนใจเข้าร่วมทั่วทุกภาคของประเทศ

ศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หัวข้อ “บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ”ได้รับความสนใจจากโรงเรียนต่าง ๆ ลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังและร่วมแลกเปลี่ยนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

อพ.สธ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มข. ประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
อพ.สธ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มข. ประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2564  ศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หัวข้อ “บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ” โดยได้รับเกียรติจาก  ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี  และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑาพร แสวงแก้ว  รักษาการแทน รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผู้กล่าวรายงานาจัดกิจกรรม โดยมีบุคลากรและหน่วยงานจากสถานศึกษา และหน่วยงานที่สนใจ  เข้าร่วมอบรมกว่า 460 คน ณ ห้อง Learning Center 1301 ชั้น 3 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น และในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook Live ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.จุฑาพร แสวงแก้ว รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ผศ.จุฑาพร แสวงแก้ว รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑาพร แสวงแก้ว รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวรายงานถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “การจัดประชุมเสวนาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ การดำเนินงานสนองพระราชดำริ สมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนได้อย่างถูกต้อง ตามแนวทาง อพ.สธ. และผลักดันการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จ โดยเป็นการอบรมให้ครูในโรงเรียนสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และบุคลากรจากหน่วยงานราชการที่ ดำเนินโครงการสนองพระราชดำริฯ เห็นความสำคัญของการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และสามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง ตามแนวทาง อพ.สธ. ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของศูนย์แม่ข่ายประสานงานฯ อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามแผนแม่บท อพ.สธ. –มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระยะ 5 ปีที่หก (1 ตุลาคม 2559 –30 กันยายน 2564) ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การบรรยายความเป็นมา ความสำคัญ และแนวทาง การดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และการเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ศ.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

     ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวในการเปิดงานว่า ปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น “อุทิศเพื่อสังคม (Social Devotion)” มหาวิทยาลัย ได้สนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น และได้พัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ตลอดชีวิตของสังคม (Lifelong Learning Center) ซึ่งปัจจุบัน มีบุคคลภายนอกเข้ามาเรียนรู้ และร่วมกิจกรรมการเรียนรู้จำนวนมาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นระยะเวลากว่า 24 ปี โดยมีนักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นคณะปฏิบัติงานวิทยาการ ดำเนินงานสำรวจ ศึกษาวิจัย ค้นคว้า ทรัพยากรกายภาพชีวภาพรวมทั้งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในพื้นที่ ปกปักทรัพยากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังสนองพระราชดำริในภารกิจที่สำคัญคือ การเป็นศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ซึ่งเป็นการดำเนินงานสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร ประสานงานสนองพระราชดำริหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจ การจัดฝึกอบรมบุคลากรหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ตามหลักสูตร อพ.สธ. ให้มีการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้ง การเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด และช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในแต่ละภูมิภาค  กิจกรรมในวันนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมเสวนาทุกท่าน จะได้รับองค์ความรู้ และแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน อีกทั้งยังได้รู้จักเครือข่ายสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน และเห็นถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือช่วยเหลือกันได้ต่อไปในอนาคต

จากนั้น เป็นการบรรยายโดยวิทยากรจาก อพ.สธ., เครือข่ายสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังนี้

ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ อพ.สธ.
ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ อพ.สธ.

     ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ อพ.สธ. บรรยายหัวข้อ “ความเป็นมา ความสำคัญ และแนวทางการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก พระราชดำริฯ (อพ.สธ.)

ดร.สุภชัย จันปุ่ม ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น
ดร.สุภชัย จันปุ่ม ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น

     ดร.สุภชัย จันปุ่ม ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น บรรยายหัวข้อ “บทบาทของสถานศึกษาในการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และการขับเคลื่อนเครือข่ายสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน”

ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

     ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายหัวข้อ “บทบาทการดำเนินงานของศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

การเสวนาเรื่อง “ปัจจัยที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และการสร้างเครือข่ายการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ
การเสวนาเรื่อง “ปัจจัยที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และการสร้างเครือข่ายการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ในช่วงบ่าย  เป็นการเสวนาเรื่อง ปัจจัยที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และการสร้างเครือข่ายการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติดำเนินการเสวนาโดย นางเบญจมาภรณ์ มามุข หัวหน้างานผลิตสื่อ กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ

นายศุภกิจ สานุสัตย์ ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญโรงเรียนขามแก่นนคร
นายศุภกิจ สานุสัตย์ ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญโรงเรียนขามแก่นนคร

     นายศุภกิจ สานุสัตย์ ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญโรงเรียนขามแก่นนคร อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ได้กล่าวถึงการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนจากที่ทางโรงเรียนได้สมัครเป็นสมาชิกแล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินงานต่อ และด้วยบริบทของโรงเรียนคือ เป็นโรงเรียนที่อยู่ชานเมือง มีป่าจำนวนมาก และมีต้นไม้เก่ามีอายุ รวมถึงมีแนวคิดว่า ทำอย่างไรที่จะให้นักเรียนที่อยู่ในเมืองได้เรียนรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น จึงเป็นแนวคิดหลักในการเข้าร่วมดำเนินงานงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน  ในส่วนของการดำเนินงานของโรงเรียนเริ่มจากการประชุมทำแผนการดำเนินงาน แต่งตั้งทีมการทำงาน การส่งตัวแทนครูดข้ารับการอบรม ดูงานเพิ่มเติมและนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของทางโรงเรียน ตั้งให้ทุกสาระการเรียนรู้มีหัวหน้าทีมดำเนินงาน และครูที่ได้รับการอบรมจะต้องนำมาขยายผลให้ครูในโรงเรียนทราบ โดยการประชุมชี้แจงร่วมกัน  นอกจากนี้การเห็นถึงความสำคัญของพรรณไม้ในโรงเรียน การรู้จักพรรณไม้ การใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง บุคลากรในโรงเรียนต้องเข้าใจ ไม่นำการดำเนินงานของโรงเรียนไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนแห่งอื่นที่มีความแตกต่างกัน และวางแผนการดำเนินงานงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนบรูณาการกับหลักสูตรการเรียนการสอน  “ความต้องการที่อยากให้เกิดขึ้น คือ รู้จักพรรณพืช รู้จักใช้ประโยชน์ รู้จักอนุรักษ์”

นางสาวพิสดา อำภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเหล่าใหญ่นาข่าวิทยาคม อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น
นางสาวพิสดา อำภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเหล่าใหญ่นาข่าวิทยาคม อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

     นางสาวพิสดา อำภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเหล่าใหญ่นาข่าวิทยาคม อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น กล่าวถึงการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน คือ ในพื้นที่โรงเรียนมีป่า และชุมชนโดยรอบเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าทั้งตัดต้นไม้เพื่อทำฟืน เก็บเห็ดและสมุนไพร จึงต้องการอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวไว้ไม่ให้ถูกทำลายและให้นักเรียนได้เรียนรู้ ในส่วนของการดำเนินงานของโรงเรียน เนื่องจาก ผู้บริหาร ครู นักเรียน และชุมชนไม่มีความรู้ ส่งแรกที่ทำคือ การปรับพื้นที่ป่าเพื่อทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในโรงเรียน  โดยได้รับความรู้เรื่องพรรณไม้จากปราชญ์ชาวบ้าน จากนั้นท่านผู้อำนวยการจึงส่งคณะครูเข้าอบรมงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเพื่อนำกลับมาดำเนินงานในโรงเรียน  “สิ่งที่ตั้งใจไว้ตอนแรกจากความต้องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าในโรงเรียน  แต่สิ่งที่ได้กลับมามากกว่านั้น”

นางขนิษฐา โสธรรมมงคล รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น
นางขนิษฐา โสธรรมมงคล รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น

     นางขนิษฐา โสธรรมมงคล รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เกิดจากความศรัทธาที่มีต่องานสนองพระราชดำริ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายไม่ว่าด้านไหนจะมีศักยภาพของตนเอง เพราะฉะนั้นงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนสามารถดึงศักยภาพเหล่านั้นของนักเรียนออกมาได้ ในส่วนของการดำเนินงานของโรงเรียน ทางโรงเรียนมองว่าแนวทางการดำเนินงานของงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนมีประโยชน์กับเด็กทุกคน ต่อเยาชนทุกคน ปัญหาอุปสรรคของทางเรียนคือการใช้ภาษามือถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากการอบรม การสร้างและถ่ายทอดชื่อพรรณไม้  เนื่องจากการดำเนินงานในช่วงนั้นไม่มีคู่มือ และต้องสร้างแบบบันทึกข้อมูลหรือใบงานเอง นอกจากนี้ยังต้องสร้างเครือข่ายโรงเรียนที่ใช้ภาษามือร่วมกัน  “ใจที่มีความมุ่งมั่นทุมเทที่จะเรียนรู้ร่วมกันทั้งโรงเรียน ผลการดำเนินงานของโรงเรียนเป็นสิ่งสะท้อนกลับมาให้เห็นถึงความสำเร็จในการดำเนินงานนสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน”

ทั้งนี้ จากการที่ศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หัวข้อ “บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ” ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook Live ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากโรงเรียนต่าง ๆ ลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากมายจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ข้อมูล / ภาพ : Waritta Hongkarnjanakul /ศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

รวบรวม ข่าว : เบญจมาภรณ์  มามุข

RSPG Upper Northeast, Khon Kaen University holds an online meeting for strengthening school botanical garden network, attended by schools all over Thailand

https://www.kku.ac.th/11685

 

Scroll to Top