วันนี้ (วันที่ 29 มกราคม 2564) เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุมกาลพฤกษ์ 7 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจิ้งหรีดเชิง พาณิชย์เพื่อความมั่นคงด้านอาหารแบบบูรณาการ โดยได้รับเกียรติจากนายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวเปิดรายงานการประชุม พร้อมด้วย รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมชี้แจงวาระการประชุม ภายใต้หัวข้อ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่ม เกษตรกรจังหวัด และการขับเคลื่อนโครงการ “ คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อยแก้จนคนขอนแก่น ”
การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์ ตลอดจนเผยแพร่และเพิ่มทักษะ ความรู้ในการเลี้ยงจิ้งหรีดสู่เกษตรกรรายย่อย นำไปสู่แก้ปัญหาความยากจน และกระจายรายได้ ให้แก่เกษตรกรที่จำเป็นจะต้องอาศัยกลไกการขับเคลื่อนจากหลายภาคส่วน ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของคณะทำงานที่จะผลักดันให้ขอนแก่นกลายเป็นเมืองจิ้งหรีดโลก โดยสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างอย่างยั่งยืน
ส่วนเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้ การอนุมัติงบประมาณ ให้กับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นเพื่อดำเนินแผนการปฏิบัติงานประจำปี ซึ่งมีการระบุกลุ่มเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 350 รายของพื้นที่ในขอนแก่น พร้อมทั้งหารือเพิ่มโอกาสในการให้งบประมาณแก่ เกษตรกรที่ต้องการยกระดับพัฒนาการเลี้ยงจิ้งหรีด รวมถึงมีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลี้ยงจิ้งหรีด ให้ได้มาตรฐาน GAP หรือ Good Agricultural Practice มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพ “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี” เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาด
นางวัลลภา วราอัศวปติ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ ทางสำนักงานปศุสัตว์จะมีการตรวจสอบเกษตรกรเพื่อสำรวจผู้ที่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงจิ้งหรีด ปรับเปลี่ยนฟาร์มให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อประเมินจัดสรรงบประมาณให้เกษตรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอย่างเหมาะสม พร้อมส่งออกทันต่อความต้องการของตลาดโลก ”
นอกจากนี้รศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าสาขาวิชา กีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา ได้เผยอีกว่า “ โครงการนี้มีแนวทางในการจัดอบรมให้แก่เกษตรกร โดยจะมีการทำประเมินและติดตามเพื่อสำรวจผลสะท้อนของโครงการให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนมากขึ้น โดยจัดอบรม 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ที่มีประสบการณ์เลี้ยงแล้ว กลุ่ม 2 คือ กลุ่มที่ต้องการพัฒนาตนเองให้ได้มาตรฐาน GAP”
การหารือการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์ทำให้ทราบถึงจำนวนเกษตรกรที่จะเข้าร่วมอบรม ทราบข้อสรุปเกี่ยวกับการอนุมัติงบประมาณที่จะจัดสรรให้แก่กลุ่มเกษตรกร พบแนวทางที่จะสามารถขยายรากฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มเกษตรกรให้เติบโต ตลอดจนแนวทางผลักดันให้ขอนแก่นกลายเป็นเมืองจิ้งหรีดโลก ทั้งนี้จะมีการหารืออีกครั้งตามโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
ข่าว : จิราพร ประทุมชัย , ทิตาวีร์ การรัมย์
ภาพ : ทิตาวีร์ การรัมย์