จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด19 รอบที่ 2 ทำให้หลายจังหวัดมีการประกาศให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และ มีการทำงานที่บ้าน (Work from Home) จึงทำให้หลายครอบครัวต้องปรับตัว ทั้งการทำงานและดูแลลูก หลายครอบครัวประสบปัญหาเกิดความเครียดในช่วงลูกเรียนออนไลน์ จนส่งผลต่อสัมพันธภาพภายในครอบครัว
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 รายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ชาญณรงค์ ชัยอุดมสม (คุณหมอต้น) จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาให้ร่วมพูดคุยในรายการ กับหัวข้อ การดูแลลูกเรียนออนไลน์อย่างไรให้มีความสุข ในสถานการณ์การระบาดโควิด 19 ดำเนินรายการโดย คุณชุตินันท์ พันธ์จรุง
คุณหมอต้นได้เล่าถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบไปยังหน้าที่การงานและการศึกษาที่สมาชิกในครอบครัวต้องใช้เวลาอาศัยอยู่ร่วมกันมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และการเรียน ให้อยู่ในลักษณะของ Work From Home คุณหมอต้นได้เสนอหลักการในการดูแลเด็กและวัยรุ่น ภายใต้การอยู่ร่วมกันของครอบครัวในสถานการณ์ COVID-19 ควรมีแนวทางในการดูแลเด็กและวัยรุ่นจากผู้ปกครอง ด้วย “หลักการ 3 ส.” สำหรับเด็กทั่วไป ได้แก่ ส.ที่ 1 สร้างสัมพันธภาพ ส.ที่ 2 สร้างวินัยและให้รางวัล และ ส.ที่ 3 สอนเรื่อง COVID-19
นอกจากนี้ การดูแลลูกเรียนออนไลน์ สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาหรือกลุ่มป่วยจากทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า ฯลฯ กลุ่มนี้จะต้องเพิ่มหลักการในการคอยดูแลเพิ่มเติมมากขึ้น โดยใช้หลัก 5 ส ได้แก่ สอดส่องมองหา, สื่อสารเชิงบวก, ใส่ใจรับฟัง, ส่งเสริมสุขภาพกายและใจ และ ส่งต่อเชื่อมโยง
คุณหมอต้น ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ปกครองควรมีการดูแลสุขภาพจิตไม่ให้ตนเองมีความเครียดก่อน ที่จะดูแลบุตรหลาน เพราะว่าสุขภาพจิตใจของเด็กมีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตใจของผู้ปกครองด้วย แนวโน้มในการรับความรู้สึก โกรธ กลัว เศร้า ล้วนมาจากผู้ปกครองที่ส่งไปยังเด็ก การสร้างสัมพันธภาพกับลูก คือ เราต้องให้ลูกเป็นทีมเดียวกันกับพ่อแม่ ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ ก็ต้องเป็นพวกเดียวกันก่อน เช่น ต้องสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน ”
ที่สำคัญแต่ละครอบครัวควรจะมี Quality Time หรือ เวลาคุณภาพ เพื่อป็นการแชร์เรื่องราวความรู้สึกในชีวิต ว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยวันละ 15 นาที อาจใช้เวลานี้บนโต๊ะอาหาร ช่วงเวลาขับรถไป รับ ส่ง ลูกไปโรงเรียน เวลาก่อนนอน โดยเน้นการคุยกันในเชิงบวก เกี่ยวกับเรื่องราวดี ๆ ที่อยากแบ่งปันซึ่งกันและกัน ส่วนนี้จะช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีของครอบครัวได้
อาการโรคสมาธิสั้น และ โรคซึมเศร้าในเด็ก ทั้งสองโรคนี้มีสาเหตุอาการที่แตกต่างกันออกไป โดยในส่วนของโรคสมาธิสั้น มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์เป็นหลัก เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นสามารถสังเกตได้ชัดเจนในช่วงอายุ 5 -7 ขวบ โดยมักมีบุคลิกที่ไม่สามารถอยู่นิ่งได้เป็นเวลานาน ส่งผลให้มีผลการเรียนต่ำกว่าความสามารถจริงของเด็ก ปัจจุบันมีการใช้ยาเพิ่มสมาธิและใช้การปรับพฤติกรรมจากทางบ้านและที่โรงเรียนควบคู่กันไป ซึ่งถ้าหากได้รับการรักษาก็สามารถมีผลการเรียนและพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นได้ โรคซึมเศร้า ในเด็กและวัยรุ่น โรคนี้อาจเกิดจากความเครียด และสภาพแวดล้อมโดยรอบที่มากระตุ้นสภาพจิตใจ โดยจะมีอาการกังวล เครียด ไม่มีความสุข ซึ่งโรคนี้ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาในหลาย ๆ วิธีควบคู่กันไป เช่น การใช้ยาต้านความเศร้า และการบำบัดทางสภาพจิตใจควบคู่กันไป
รายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน เป็นรายการที่ให้บริการประชาสัมพันธ์กิจกรรมภายในชุมชน และเป็น ช่องทางการสื่อสาร สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกอากาศเป็นประจำทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 15.00-16.00 น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz. และ Live สดผ่านทาง Face book KKU Radio สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ https://radio.kku.ac.th/ ติดต่อร่วมรายการได้ที่ คุณชุตินันท์ พันธ์จรุง โทร 086-6545144 หรือ pchutinan@kku.ac.th ผู้ดำเนินรายการ
เขียนข่าว : ทิตาวีร์ การรัมย์ นศ.สาขาเอเชียตะวันออก และ กมลชนก จันทะโชติ นศ.สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.
ถ่ายภาพ : วราฉัตร มณีวงศ์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ