ทีม นศ.สถาปัตย์ คว้ารองชนะเลิศโครงการประกวดแบบกู้ชีพมรดกสถาปัตยกรรม

จากการที่สมาคมสถาปนิกสยามได้จัดให้มีการประกวดแบบในโครงการประกวดแบบ กู้ชีพมรดก สถาปัตยกรรม Heritage in Danger  โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในหมู่นักศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ในการเฟ้นหามรดกสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าในท้องถิ่นของตน ที่กำลังประสบปัญหาเสื่อมโทรมหรือถูกทำลายจากการขาดการบำรุงรักษาหรือการใช้สอยที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสมควรที่จะได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูเพื่อดำรงไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมอันมีคุณค่าของชาติต่อไปในอนาคต

ในการนี้ทางคณะฯ ได้จัดส่งทีมเข้าประกวดจำนวน 2 ทีม โดยได้เลือกมรดกสถาปัตยกรรมได้แก่ โรงภาพยนต์ยโสธรภาพยนต์ ในพื้นที่เมืองเก่าสิงห์ท่า อ.เมือง จ.ยโสธร ที่ก่อสร้างเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วและตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองเก่าเมืองยโสธร มาใช้เป็นอาคารกรณีศึกษาเพื่อการออกแบบภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อรองรับความต้องการของคนในชุมชน  ซึ่งการศึกษาและสำรวจเพื่อการออกแบบอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารในพื้นที่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งมีเนื้อหาและการจัดการเรียนการสอนต่อเนื่องกัน 2 ภาคการศึกษา โดยภาคการศึกษาแรก เป็นการทำความเข้าใจสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในมิติต่างๆ รวมถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเหล่านั้น นักศึกษาจะได้เรียนรู้คุณค่าความสำคัญของมรดกทางสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น กิจกรรมการเรียนการสอนมีการให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้จากการลงพื้นที่สำรวจภาคสนาม เก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่จริง และในภาคการศึกษาที่สองเป็นการนำแนวคิดและความเข้าใจที่ได้จากการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบอาคารร่วมสมัย หรือปรับเปลี่ยนอาคารเพื่อรองรับวิถีการใช้งานในปัจจุบันในลักษณะต่าง ๆ โดยต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขและบริบทของพื้นที่  ซึ่งผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสองทีม ก็เป็นส่วนหนึ่งจากการจัดการเรียนการสอนในรายวิชา  ทั้งนี้กิจกรรมของรายวิชาดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทุกปี ในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล และการทัศนศึกษาผลงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคอีสาน จากโครงการบูรณาการการออกแบบชุมชน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผู้เข้าประกวดทั้ง 2 ทีม เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 5 ในขณะนั้น ประกอบด้วย

ทีมยโสธรภาพยนต์: ฟื้นชีวิตใหม่ให้อาคารเก่า-1 สมาชิกในทีมประกอบด้วย
นางสาวชัญญา ปัญญาพูนตระกูล
นายภาณุวิชญ์ ศรีสุทธา
นายกฤษกร วรรณจำปา
นายรัชต์ธร ทวีศักดิ์ไพจิตร

ทีมยโสธรภาพยนต์: ฟื้นชีวิตใหม่ให้อาคารเก่า-2 สมาชิกในทีมประกอบด้วย
นางสาวกัณฐษร ลนขุนทด
นายวศิน ขจรศักดิ์ว่องไว
นางสาวปุญญรัตน์ บุญจันทร์
นายธีรภัทร แสงนิล

โดยมีทีมอาจารย์ที่ปรึกษา ได้แก่ รศ.ดร. วารุณี หวัง   ผศ.ดร. จันทนีย์ จิรัณธนัฐ   รศ.ดร. นพดล ตั้งสกุล
ผศ.ดร. ทรงยศ วีระทวีมาศ

จากผลงานที่ดีที่สุดจำนวน 7 โครงการทั่วประเทศที่จะเข้ารอบชิงชนะเลิศ  โดยผลการคัดเลือกจากคณะกรรมการจำนวน 12 ท่าน ประกอบด้วย ผู้แทน สมาคมสถาสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ 3 ท่าน  ผู้แทนกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา 3 ท่าน ผู้แทนกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ 3 ท่าน  ผู้แทนกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน 3 ท่าน   ทีมที่ได้ผ่านการคัดเลือกได้แก่ ทีมยโสธรภาพยนต์: ฟื้นชีวิตใหม่ให้อาคารเก่า-1 โดยได้รับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแบบแนวคิดและจัดเตรียมผลงานขั้นสุดท้าย จำนวน 25,000 บาทต่อทีมส่วน  ผลงานของทีมยโสธรภาพยนต์: ฟื้นชีวิตใหม่ให้อาคารเก่า-2 จะได้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานในงานสถาปนิก 64 ร่วมกับผลงานอีก 29 ทีม

นางสาวชัญญา ปัญญาพูนตระกูล ตัวแทนของทีมทีมยโสธรภาพยนต์: ฟื้นชีวิตใหม่ให้อาคารเก่า-1 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทีมเรามีแนวคิดฟื้นชีวิตใหม่ให้อาคารเก่า ก็เพื่อทำให้ชุมชนที่ซบเซา สามารถเทียบเคียงแหล่งท่องเที่ยวในเชียงคานและย่านเมืองเก่าภูเก็ตได้  จึงนำวัสดุเดิมที่มีอยู่ในอาคารตั้งแต่สมัยก่อนมาเป็นแกนหลัก ใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก นำมายืดหดให้เกิดเงา รับแสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ใส่ Double screen ที่เป็นปูนและเหล็กฉลุลาย ซึ่งคงรูปแบบเดิมของอาคารไว้ ภายใต้แนวคิด “ย้อน-วัน-วาน” เป็นแนวคิดที่จะปลุกจิตวิญญาณอาคารในอดีตนำมาเล่าใหม่ ตอบโจทย์กับพลวัตรทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยใช้ไอเดีย Cinema cafe เป็นพื้นฐานที่สร้างสมดุลระหว่างเรื่องราวและการสร้างจุดเด่นให้กับธุรกิจให้เกิดรายได้หล่อเลี้ยงโครงการ มีกิจกรรมการฉายหนังนอกกระแส หรือหนังเก่าหมุนเวียนเพื่อเป็นแหล่งรวมตัวสำหรับกลุ่มคนที่ชอบดูภาพยนตร์ หรือหาประสบการณ์การรับชมนอกจากรูปแบบปกติ ซึ่งทางอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำในเรื่องของข้อมูลและการลงพื้นที่ การปรับปรุงโมเดลจำลอง แก้ไขรายละเอียดแบบพรีเซ็นต์บางส่วน เพื่อให้คนอ่านเข้าใจชัดเจนมากขึ้น และทีมเราก็ได้แบ่งงานตามความถนัดเป็นหลัก ใครถนัดจัด Element ก็ทำ ใครถนัดจัดพื้นที่ฟังก์ชั่นก็ทำ ใครถนัดดีไซน์สเปซหรือช่องเปิดก็ทำ แต่โดยรวมทุกคนช่วยกันทุกขั้นตอน ร่วมกันเสนอความคิดและแก้ไข เพื่อให้งานออกมาเสร็จสมบูรณ์ที่สุดค่ะ แล้วการที่กรรมการตัดสินเลือกทีมทีมยโสธรภาพยนต์: ฟื้นชีวิตใหม่ให้อาคารเก่า-1  น่าจะเป็นเพราะทีมเรามองเห็นคุณค่า ในที่นี้หมายถึงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และทางสถาปัตยกรรม โรงภาพยนตร์ยโสธรเป็นอาคาร Modern ยุคต้นปี 2500  อยู่คู่ชุมชนมานาน วัสดุและองค์ประกอบต่างๆเป็นของดั้งเดิม ล้วนสร้างจากช่างฝีมือในชุมชน คิดโดยคนในชุมชน ดูแลและใช้งานโดยคนในชุมชน เป็นมรดกที่สืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น และยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเราเห็นคุณค่าในเรื่องนี้และนำมาต่อยอด สร้างประโยชน์ต่อชุมชน สะท้อนคุณค่าเดิมและถ่ายทอดเรื่องราวของตัวอาคารตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

สำหรับผลการตัดสินโครงการประกวดแบบกู้ชีพมรดกสถาปัตยกรรม  Heritage in Danger ในรอบชิงชนะเลิศ จากคณะกรรมการจำนวน 7 ท่าน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ปรากฏว่า ทีมยโสธรภาพยนต์: ฟื้นชีวิตใหม่ให้อาคารเก่า-1 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ร่วมกับทีมอื่นๆ อีก 5 รางวัล ได้รับรางวัลเป็นเงิน 10,000 บาท  ซึ่งทางสมาคม ฯ จะจัดให้มีพิธีมอบรางวัล และ การจัดแสดงผลงาน ณ งาน สถาปนิก’64  ในวันที่ 27 เมษายน–2 พฤษภาคม 2564 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี ต่อไป

Architecture student team wins the second prize at the Heritage in Danger Contest

https://kku.ac.th/8368

ข่าว : รศ.ดร. วารุณี หวัง
ภาพ : ทีมยโสธรภาพยนต์: ฟื้นชีวิตใหม่ให้อาคารเก่า-1
เผยแพร่ : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ

Scroll to Top