“…อีกไม่นานหลังจากนี้เราจะได้เห็นภาพความเป็น “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” ชัดเจนยิ่งขึ้น จากหลักการขับเคลื่อนเมืองด้วยเทคโนโลยี พลิกโฉมเมืองขอนแก่น ควบคู่ไปการพัฒนาระบบรางและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการได้อย่างยั่งยืน ตลอดไป…”
วันที่ 27 สิงหาคม 2563 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ได้รับเกียรติต้อนรับ ท่านอาสา สารสิน อดีตราชเลขาธิการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ติดตาม ในโอกาสเยี่ยมพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารและคณาจารย์วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น นำโดย รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดี พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรของวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และรับฟังการบรรยายสรุป “ขอนแก่นโมเดล” โดย อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและองค์กรสัมพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ที่เป็นทั้งต้นคิด จุดประกายเรื่องการร่วมมือกันของทุกฝ่ายในการพัฒนาเมืองขอนแก่น ให้เป็น “ขอนแก่นโมเดล” ที่ท้องถิ่นทั้งประเทศต้องหันมาจับตามอง
อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กล่าวว่า “ขอนแก่นโมเดล” ได้รับการยอมรับจากหลายภาคส่วนถึงการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาจังหวัดให้ก้าวไปเป็นเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) ที่หลาย ๆ จังหวัดนำไปเป็นโมเดลปรับใช้ การพลิกโฉมขอนแก่น ได้เริ่มต้นทำโครงการขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าระบบรางเบา ด้วยการจัดตั้งบริษัท 5 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลเมืองเก่า และเทศบาลตำบลท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ในชื่อ บริษัท ขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนโครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา (LRT) ในวันนี้จังหวัดขอนแก่นมีแผนพัฒนาจังหวัด คือ สมาร์ทซิตี้ 2030 โดยมีฐานขั้นที่ 1 คือ การทำขนส่งมวลชน และการพัฒนาเมือง ฐานขั้นที่ 2 คือ ข้อมูล หรือที่เรียกว่า Internet of Things และฐานที่ 3 คือ คนควบคุมข้อมูล ที่ประกอบด้วย สมาร์ท 6 เรื่อง ได้แก่ 1.Smart Mobility 2.Smart Living 3.Smart Citizen 4.Smart Economy 5.Smart Environment และ 6.Smart Governance ทั้งหมดนี้เราต้องทำจากฐานราก คือ ขนส่งมวลชนและพัฒนาเมือง
ปัจจุบันขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ได้ยกระดับเป็นยุทธศาสตร์จังหวัด ด้วยการเร่งขับเคลื่อนระบบรางเพื่อใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนเพื่อไม่ให้เป็นภาระของประเทศ ช่วยยกระดับท้องถิ่นให้เข้มแข็ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบราชการเพื่อยกระดับองค์กรให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลกลางยังเปิดโอกาสให้ขอนแก่นผลักดันงบประมาณของตนเอง จนได้ที่ดินที่จะนำมาพัฒนาโครงการ ใช้วิธีการระดมทุนมาเป็นแนวทางการพัฒนาโดยมีแผนลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทซึ่งหากระดมทุนได้ตามเกณฑ์นี้ เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์จะได้วงเงินประมาณ 10 เท่าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐหรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยเป็นงบประมาณของเทศบาลที่จะนำไปพัฒนาโครงการโดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.ของจังหวัด) เข้ามาควบคุมการพัฒนาโครงการ ในอีกไม่นานหลังจากนี้เราจะได้เห็นภาพความเป็น “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” ชัดเจนยิ่งขึ้น จากหลักการขับเคลื่อนเมืองด้วยเทคโนโลยี พลิกโฉมเมืองขอนแก่น ควบคู่ไปการพัฒนาระบบรางและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการได้อย่างยั่งยืน ตลอดไป
|
ภาพ/ข่าว จิตรลัดดา แสนตา ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร COLA KKU