จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากถึง 276,029 คน ซึ่งถือเป็น ร้อยละ 15 ของประชากรทั้งจังหวัด และเป็นอันดับ 4 ของทั้งประเทศ ผู้ป่วยติดเตียงของทั้งประเทศมีมากประมาณ 150,000 คน โดยมีผู้สูงอายุที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อีกมากมายที่ยังต้องการรับเบี้ยยังชีพในแต่ละเดือน ทำให้ต้องตระหนักต่อการซื้ออุปกรณ์ในการรักษา ซึ่งรวมไปถึงเตียงที่ใช้ในการรักษาสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียงด้วย ซึ่งเตียงนอนที่บ้านของผู้ป่วยบางพื้นที่ ไม่เหมาะกับการดูแลผู้ป่วยมากนัก จนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างแผลกดทับตามมาได้ ซึ่งถ้าหากปล่อยให้ผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาพติดเตียงเป็นเวลานาน อาจจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาล และอาจจะแพงเกินกว่าญาติผู้ป่วยจะรับไหว จนเกิดเป็นภาวะรุนแรงอื่น ๆ ตามมา ด้วยปัญหาเหล่านี้ ทางกลุ่มวิจัยและออกแบบเพื่อสังคมสูงวัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ดำเนินงานโครงการวิจัยและออกแบบที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไต สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง ได้มีการส่งมอบที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไต สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง จำนวน 10 ชุด ให้กับเทศบาลเมืองศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2563 ณ ศูนย์ผู้สูงอายุเทศบาลเมืองศิลา ที่ผ่านมา
นายจตุรพิธ พิมพ์แสง ตัวแทนของทีมผู้ออกแบบ โดยมี ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน , ผศ.ชลวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนคร , ผศ.ดร. นยทัต ตันมิตร และ อาจารย์ อภิญญา อาษาราช คณาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการทำที่นอนลมเพื่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียงจากถุงน้ำยาล้างไต ว่า ปัจจุบันมีการนำขยะมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากมาย และมีการสร้างมูลค่าที่สูงขึ้นจากการออกแบบเพื่อการใช้งานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอย ขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งขยะจากโรงพยาบาล ซึ่งขยะในโรงพยาบาลไม่ได้มีเพียงแค่ขยะที่ติดเชื้อจากการรักษาเท่านั้น แต่ยังมีขยะที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ โดยมีเนื้อวัสดุที่มีความหนา เหนียวและทนทาน อีกทั้งยังอยู่ในสภาพที่สะอาด ปลอดภัย โดยจะพบได้จากวัสดุของ ถุงน้ำยาล้างไต เพราะเป็นวัสดุที่ต้องสะอาดอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากต้องนำไปล้างไตซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งสำคัญในร่างกายที่ได้จากโรงพยาบาลและบ้านผู้ป่วยโรคไตที่ทางโรงพยาบาลได้จำหน่ายให้กับผู้ป่วยนำกลับไปรักษาด้วยตนเองที่บ้านด้วย โดยเฉลี่ยแล้ว ถุงน้ำยาล้างไต กลายเป็นขยะจำนวนมาก ซึ่งเมื่อใช้งานเสร็จ ทางโรงพยาบาลและทางบ้านผู้ป่วยจะนำไปทิ้งรวมกับขยะมูลฝอย ทำให้คุณค่าของวัสดุไม่ได้ถูกใช้งานให้เกิดประโยชน์อีกต่อไปทางคณะผู้ออกแบบจึงได้เล็งเห็นประโยชน์ของถุงล้างไตเหล่านี้มาผลิตเป็นที่นอนลม
ซึ่งการออกแบบที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไต เป็นไปได้ด้วยดีมีการออกแบบมาเพื่อการใช้งานเฉพาะจุด อย่างเช่นบริเวณหลังและก้น ที่สามารถดึงออกมาทำความสะอาดหรือดึงออกเพื่อให้มีการระบายอากาศได้มากขึ้นในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นจุดสำคัญอย่างมากในการป้องกันแผลกดทับ อีกทั้ง ส่วนอื่นๆ ของที่นอน ก็ยังดึงออกได้เช่นกัน โดยการออกแบบได้คำนึงถึงการกดทับเป็นสำคัญ จึงได้ออกแบบให้มีลอนของที่นอนที่ระดับต่างกัน สลับไปมา ทำให้การนอนมีจุดกดทับที่ไม่ใช่ทุกจุด หากบริเวณไหนกดทับมาก ๆ ก็ดึงออกได้ ทำให้ไม่เกิดแผลกดทับจากการนอนติดเตียงได้ โดยที่นอนลมนี้ ได้ใช้ผ้าที่เป็นเทคโนโลยีท้องถิ่น และมีความเป็นเอกลักษณ์ของอัตลักษณ์พื้นถิ่นอย่างลายผ้าขาวม้า ที่เมื่อเห็นแล้วจะนึกถึงความเป็นท้องถิ่นทันที อีกทั้งผ้าขาวม้าที่ใช้ยังใช้ภูมิปัญหาที่ทำให้ผ้ามีความนุ่มสบายกว่าผ้าฝ้ายชนิดอื่น ๆ นั่นก็คือวิธีการหมักโคลน ทำให้ผ้านุ่ม เมื่อใช้งานแล้ว จะทำให้การนอนนั้นสบายมากยิ่งขึ้นไปอีก อีกทั้งสีของผ้าฝ้ายขาวม้าหมักโคลน ยังเป็นสีโทนธรรมชาติ ส่งผลต่อความรู้สึกที่สบายใจในการนอนมากขึ้น โดยได้ทำการศึกษาใน 5 ด้าน คือ ในด้านของการจัดการถุงน้ำยาล้างไต ด้านการประกอบที่นอนลม ด้านการทำความสะอาด ด้านกระบวนการใช้งานที่นอนลม และด้านการกดทับของน้ำหนักลงบนที่นอน โดยภาพรวมของที่นอนเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งานและกลุ่มตัวอย่างแล้ว ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและเหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเตียง
ภาพและข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ
ข้อมูล : จตุรพิธ พิมพ์แสง กุลนิษฐ์ สังคะรักษ์ และ สุวัฒน์ แถลงศรี