New Normal !! KKBS ติวเข้มออนไลน์ ปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงอาหารขอนแก่น

 

ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก จัดโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนในรูปแบบวิถีใหม่ ผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้ชื่อโครงการ “Gastronomy Tourism for Local People in Khon Kaen Province” และโครงการ “Digital Marketing of Gastronomy Tourism for Local People in Khon Kaen MICE City” กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการต้นทุนและกำหนดราคามาตรฐานสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอาหารของคนในชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรม จัดการความรู้และสื่อความหมายสร้างการเรียนรู้เชิงคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้อาหารพื้นถิ่น เป็นจุดขาย จัดทำมาตรฐานการบริการทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่สร้างสรรค์โดยใช้วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นเป็นฐาน รวมถึงการพัฒนาการตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารในรูปแบบ Digital Marketing แก่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อให้เป็นต้นแบบการพัฒนาธุรกิจชุมชนโดยการสื่อความหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนชุมชนที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิรชญา ชัยเกษม ผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก พร้อมด้วย อ.มัลลิกา เจแคน อาจารย์สังกัดสาขาการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ คุณอมราวดี คำบุญ อาจารย์พิเศษคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี สำหรับการดำเนินงานถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ ได้ใช้ช่องทางออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM Cloud Meetings ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการสู่สังคม ของคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ในรูปแบบวิถีใหม่ หรือ New Normal ซึ่งเหมาะสมภายใต้สถานการณ์การเฝ้าระวังวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในปัจจุบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิรชญา ชัยเกษม ผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายและแผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ และกำหนดให้จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองศูนย์กลางการค้า การลงทุน การศึกษา และการขนส่งของภาคอีสานเป็นประตูสู่ภูมิภาคอินโดจีนและประเทศจีนตอนใต้ ทำให้จังหวัดขอนแก่นได้พัฒนาเป็นเมืองแห่งกิจกรรมประชุมสัมมนา (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions (Mice City) ลำดับที่ 5 ของประเทศไทย รวมถึงนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกร ได้มี โอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้ อันจะนำไปสู่ ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ภายในประเทศและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน และแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่นได้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของจังหวัด โดยยุทธศาสตร์การพัฒนา ได้กำหนดกรอบการพัฒนา ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง มุ่งเน้นในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด หรือสร้างโอกาสทางการตลาด โดยอาศัยความเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงโอกาสจากกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และตามเป้าหมายของจังหวัดขอนแก่นที่พัฒนาเมืองขอนแก่นเป็นเมือง Smart City & Mice City โดยการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของจังหวัดในกลุ่มประเทศ GMS เพื่อขยายช่องทางการตลาด ตลอดจนการยกระดับการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อรองรับการท่องเที่ยวชุมชน ปัจจุบันจังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์กลางในหลายๆด้าน เช่น การศึกษา การแพทย์ การประชุมและการท่องเที่ยว การค้ารวมทั้งการคมนาคมขนส่งที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงหลายภูมิภาคทั้งในประเทศ และต่างประเทศในประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในอนาคตจังหวัดขอนแก่นจึงเป็นเป้าหมายและเส้นทางที่นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะแวะมาเยี่ยมเยียนอย่างมากมายและต่อเนื่องตลอดปี

“จังหวัดขอนแก่น เป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมและขนบวิถีแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งเป็นเมืองศูนย์กลางการปฎิบัติงานตาม “แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ” ที่จะเชื่อมต่อประเทศไทย พม่า เวียดนามเข้าด้วยกัน ดังนั้น Positioning ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ให้มีคุณภาพ มีชื่อเสียงระดับสากล สามารถแข่งขันเชิงธุรกิจได้เพื่อสร้างการเติบโตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ มีหลากหลาย เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนที่มีคุณภาพ และรองรับความเป็นเมืองไมซ์ (Khon Kaen Smart City & Mice City) ดังนั้นในส่วนของการดำเนินโครงการ”Digital Marketing of Gastronomy Tourism for Local People in Khon Kaen MICE City” จึงส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) โดยให้ความรู้ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องด้านการตลาดยุคใหม่ รวมไปถึงกลยุทธ์ในการพัฒนาการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนในจังหวัดขอนแก่นเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในด้านอาหารพื้นถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยวต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจท้องถิ่นออกสู่ตลาดระดับชาติและนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตต่อไป” ผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกกล่าวเสริม

“สำหรับการดำเนินงานถ่ายทอดความรู้ในส่วนของโครงการ “Gastronomy Tourism for Local People in Khon Kaen Province” ศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกได้ลงพื้นที่เพื่อนำข้อมูลวิเคราะห์อัตลักษณ์วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่น และเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างการรับรู้ และกระตุ้นความสนใจด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาจะใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งผู้เข้ารับอบรมกับโครงการฯ จะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารในมิติด้านสังคม มิติด้านวัฒนธรรม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชุมชนท้องถิ่น ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนมากยิ่งขึ้นและสามารถนำอาหารพื้นถิ่นที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน นำออกเสนอขายในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านอาหารออกสู่สังคมอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเป็นรากฐานของประเทศ” ผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกกล่าวในท้ายที่สุด

วรัญญู ดอนเหนือ : ข่าว/ภาพ

Scroll to Top