นวัตกรรมไม่ได้หมายถึงเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ศิลปะก็สามารถนำมาพัฒนาให้กลายเป็นนวัตกรรมได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการแสดงหุ่นร่วมสมัย เรื่อง สินไซรู้ใจตน ที่พัฒนาขึ้นจากโครงการวิจัยเรื่อง “สินไซเด็กเทวดา-มหาวิทยาลัยขอนแก่น: ฝึกทักษะชีวิตและความเข้าใจผ่านกระบวนการสร้างสรรค์การแสดงหุ่นร่วมสมัย” เป็นนวัตกรรมเชิงการแสดงอีกชิ้นหนึ่งที่ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกัน ระหว่าง อาจารย์ นักศึกษา การละคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศิลปิน ชาวบ้าน เยาวชนในชนบท ที่นำไปสู่การสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่สร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเองให้กับเยาวชนในภาคอีสาน
ย้อนไปในระหว่างปี 2559-2562 อาจารย์พชญ อัคพราหมณ์ สาขาวิชาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.) เพื่อศึกษาวิจัยภายใต้ชุดโครงการวิจัยการแสดง: สร้างสรรค์งานวิจัยสาขาศิลปะการแสดงไทยร่วมสมัย ของศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.)ซึ่งการทำงานครั้งนั้นเกิดจากความรักในศิลปะ พร้อมกับแนวคิดที่ต้องการนำศิลปะการแสดงมาใช้ในการพัฒนาผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการ
“ศิลปะเป็นสิ่งอยู่กับเราตลอดเวลา เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเรามีชีวิตชีวา มีสีสัน เพราะฉะนั้นศิลปะจึงอยู่คู่กับพวกเราอยู่ในความเป็นมนุษย์ซึ่งแยกขาดจากกันไม่ได้ เหมือนกับละคร ที่ผูกติดกับวิถีชีวิตมาเนิ่นนานแล้วหลายพันปีเป็นพิธีกรรมที่ประกอบขึ้นมาเพื่อบูชาเทพเจ้า ไดโอนีซุส (Dionysus) เป็นเครื่องมือหนึ่งของการเยียวยาจิตใจ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมนุษย์
แต่ปัจจุบันการสร้างสรรค์ละครผ่านสื่อต่างๆทำให้ความเข้าใจของคำว่าละครกลายเป็นเรื่องของความสนุก และ บันเทิง อย่างเดียวซึ่งแท้จริงแล้วในกระบวนการละคร เป็นการพัฒนาผู้ที่อยู่ในทีม ตลอดเวลา ฉะนั้นการศึกษาวิจัยเรื่อง “สินไซเด็กเทวดา-มหาวิทยาลัยขอนแก่น: ฝึกทักษะชีวิตและความเข้าใจผ่านกระบวนการสร้างสรรค์การแสดงหุ่นร่วมสมัย” จึงเป็นการนำศาสตร์ ทางด้านละครมาบูรณาการ กับศาสตร์อื่นๆที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาคนที่อยู่ในกระบวนการ รวมไปถึงผู้มีส่วนร่วมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชุมชน หรือ พื้นที่ที่เราไปทำงานด้วย” อาจารย์พชญ กล่าว
จากแนวคิดที่ต้องการใช้กระบวนการละครพัฒนาผู้มีส่วนร่วม อาจารย์พชญ ในฐานะครู พ่วงด้วยบทบาทนักวิจัย จึงได้พานักศึกษาสาขาวิชาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง 6 คน ไปเรียนรู้ชีวิตด้วยการฝึกปฏิบัติและสร้างสรรค์การแสดงหุ่น ร่วมกับศิลปิน ชาวบ้าน ณ บ้านหนองโนใต้ จังหวัดมหาสารคาม เป็นเวลากว่า 3 เดือน
“การดำเนินโครงการเป็น 3 ช่วงหลัก คือ 1. การปรับวิถีชีวิตและเรียนรู้ชุมชน 2. การสร้างสรรค์และพัฒนาการแสดงหุ่น 3. การเร่แสดงผลงานในพื้นที่ต่างๆ โดยพยายามหาคำตอบว่าเด็กรุ่นใหม่ที่กลับไปเรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมแบบอีสาน จะสามารถหยิบจับข้อดี สิ่งดีงามที่อยู่ในชุมชนมาใช้ในชีวิตประจำวันของตนเองในความเป็นคนรุ่นใหม่นี้อย่างไร เครื่องมือที่มาช่วยในการทำงานครั้งนี้ก็ คือ การสร้างสรรค์ละครหุ่นจากศิลปะพื้นบ้านอีสาน โดยเรียนรู้กับศิลปินในชุมชนอย่าง ครูเซียง-ปรีชา การุณ คณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดา จ.มหาสารคาม ฉะนั้นการทำงานครั้งนี้นอกจากจะพานักศึกษาไปเรียนรู้วิถีชีวิตแล้วเชื่อมต่อระหว่างสังคมในเมือง กับ สังคมชนบท ยังเป็นการนำหลักคิดของนักวิชาการละครไปทำงานร่วมกับศิลปินในชุมชน สร้างงานการแสดงขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าทั้ง 2 อย่างสามารถไปด้วยกันได้แล้วเกิดนวัตกรรมการแสดง” อาจารย์พชญ กล่าว
ในการสร้างสรรค์ละครหุ่นทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการนำวรรณกรรมพื้นบ้านที่ผูกพันกับคนอีสานมายาวนานอย่าง สังข์ศิลป์ชัย เรื่องราวการผจญภัยของ3 พี่น้อง สินไซ สังข์ทอง สีโห ที่ต้องออกเดินทางฝ่าด่านอุปสรรคช่วยเหลือนางสุมณฑาที่เมืองยักษ์มาเป็นโจทย์ให้ นักศึกษา เยาวชน ที่อยู่ในโครงการสร้างสรรค์องค์ประกอบทุกอย่างในการผลิต ตั้งแต่ การประดิษฐ์หุ่น การดำเนินเรื่อง รวมไปถึงรูปแบบการนำเสนอที่ผสมผสานการใช้ศาสตร์ทางด้านละครของตะวันตก จึงทำให้เรื่องราวของ สังข์ศิลป์ชัย วรรณกรรมอีสานโบราณมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ผ่านการเล่าเรื่อง และ การตีความของคนรุ่นใหม่
“นวัตกรรมของเราอาจจะไม่ได้หมายถึงงานประดิษฐ์ทางด้านเทคโนโลยี แต่ว่างานเราเป็นนวัตกรรมการแสดง ที่ถูกพัฒนาจากสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ หรือว่ามีอยู่เดิมแล้วให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการใหม่ๆ ที่หลุดพ้นกรอบการทำงานเดิม ไอเดียที่ถูกหยิบมาใช้ในการสร้างตัวหุ่นละคร เป็นการเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาค่อยๆค้นหา พลิกแพลง เช่น ขี้ควาย ไม้ไผ่ ทำอะไรได้บ้าง กระติบข้าวเหนียวสามารถเปลี่ยนรูปร่างจากภาชนะที่เอาไว้ใส่ข้าวเหนียวกลายมาเป็นหุ่นละครได้อย่างไร”
“ในส่วนของวรรณกรรมสังข์ศิลป์ชัย ต้นฉบับจริงๆ ยาวมากแต่ เราก็พยายามทำให้กระชับโดยผสมผสานศิลปะอีสานร่วมกับวิธีคิด หรือ การทำงานแบบละครแบบตะวันตก ดำเนินเรื่องด้วย บทพูด ผสมผญา หมอลำ และเกิดเป็นเรื่อง “สินไซเด็กเทวดา” ต่อมา จึงพัฒนาเป็นเรื่อง “สินไซรู้ใจตน” โดยการร่วมกันถอดบทเรียนว่านักศึกษาได้เรียนรู้และค้นพบอะไรในตัวเองบ้าง ได้รู้ใจตนเองอย่างไรผ่านการทำงานในโครงการวิจัยตลอดระยะเวลา 4-5 เดือน เพราะฉะนั้น โครงเรื่องสินไซรู้ใจตนจึงถูกสร้างใหม่ แต่ยังคงใช้เรื่องสินไซเดิมโดยจัดวางเหตุการณ์ใหม่เลือกเอาเฉพาะตอนที่สัมพันธ์กับนักศึกษา เพราะฉะนั้นเรื่องสินไซรู้ใจตนเลยไม่เป็นตามวรรณกรรมต้นฉบับ” อาจารย์พชญ กล่าว
ซึ่งภายหลังการปรับวิถีชีวิตและเรียนรู้ชุมชน การสร้างสรรค์และพัฒนาการแสดงหุ่น การเร่แสดงผลงานในพื้นที่ต่างๆ อาจารย์พชญได้เผยถึงผลการศึกษาว่า นักศึกษายังคงมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามวิถีสมัยใหม่อยู่บ้าง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ทัศนคติต่อการเรียน การทำงานที่ทุ่มเทเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้เพิ่มสูงขึ้น การใส่ใจผู้อื่นและสังคม สามารถทำงานร่วมกับชาวบ้านชุมชนได้ พร้อมทั้งเข้าใจความแตกต่างและเคารพผู้อื่น กล้าที่จะแสดงออกในอัตลักษณ์ที่บ่งบอกตัวตนความเป็นคนอีสานโดยไม่เขินอาย
และแม้ว่าปัจจุบัน สินไซรู้ใจตน ผลงานการแสดงจากกระบวนการเรียนรู้จากโครงการวิจัยฯ ได้ปิดม่านไปแล้วโดยได้สร้างชื่อเสียงไว้มากมาย จากการแสดงมามากกว่า 30 รอบการแสดง ทั้งในชุมชนอีสาน สถาบันการศึกษา และเวทีการแสดงระดับชาติ และนานาชาติ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือ นวัตกรรรมทางศิลปะ ที่เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างรูปแบบการเรียนรู้เพื่อเชื่อมต่อรากเหง้า วิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิม กับ คนรุ่นใหม่ และนำไปสู่การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
“กระบวนการทำงาน สินไซรู้ใจตน เป็นต้นแบบของการทำงานอื่นๆถัดมา โดยได้นำเอาแนวคิดจากงานวิจัยนี้มาสร้างเป็นงานใหม่ เช่น คณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง ของศูนย์วัฒนธรรม ม.ขอนแก่น โดยมุ่งเน้นแนวคิดที่ว่า เยาวชนไทยสมัยใหม่ เกิดและเติบโตมากับความทันสมัยและเทคโนโลยี อาจถูกทำให้ห่างไกลจากภูมิปัญญาของชุมชน ดังนั้นการสร้างพื้นที่การแสดงให้เยาวชนได้มีโอกาสศึกษาและทดลองเรียนรู้ศิลปะชุมชน ที่มีความแตกต่างจากวิถีชีวิตปกติของพวกเขา อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เยาวชนได้มีโอกาสศึกษาและทำความเข้าใจตัวตนของตนเองมากขึ้น ซึ่งเยาวชนสมัยใหม่เหล่านี้จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ศิลปะวัฒนธรรมชุมชนสามารถสื่อสารและดำรงอยู่ได้อย่างภาคภูมิในสังคมไทย” อาจารย์พชญ กล่าวทิ้งท้าย