วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ได้นำทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ร่วมประชุมสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานบริการวิชาการสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง และ สร้างความร่วมมือในการยื่นข้อเสนอเชิงแนวคิด ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2567 ภายใต้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อดำเนินการร่วมกันกับองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ กล่าวว่า สำนักบริการวิชาการ ขอขอบคุณองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริมที่ร่วมดำเนินงานโครงการต่างๆ มาโดยตลอดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนร่วมกัน และได้ชี้แจงแนวทางในการสร้างความร่วมมือในการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานและความต้องการของชุมชน ในการยื่นข้อเสนอเชิงแนวคิด ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2567 ภายใต้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และดำเนินงานร่วมกัน โดยได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ในการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับการศึกษาอย่างเท่าเทียมของผู้ด้อยโอกาสในชุมชน
นายประสิทธิ์ คลังกลาง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีในการมาเยือนในครั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริมได้ร่วมดำเนินงานด้านการบริการวิชาการร่วมกับสำนักบริการวิชาการมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ร่วมกันพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตประชาชนมาอย่างหลากหลายและเกิดประโยชน์แก่ประชาชน การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีและมีความยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันในทุกด้านอย่างดี
จากการวิเคราะห์ความต้องการของชุมชน พบว่า ตำบลท่ากระเสริม มีความต้องการในการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งต่อเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการยกระดับการเรียนรู้และวิชาชีพของผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่
รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ ได้ชี้แจงแนวทางในการร่วมมือ ในการยื่นข้อเสนอเชิงแนวคิด ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2567 ภายใต้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ ภายใต้หลักคิด “การใช้ชุมชนเป็นฐาน” ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ผ่านการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งสำนักบริการวิชาการขอขอบคุณข้อมูลต่างๆ ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริมได้รวบรวมให้ และต่อจากนี้จะดำเนินการส่งข้อเสนอต่อไป
ต่อจากนั้น รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ได้ขอหารือในการจัดโครงการบริการวิชาการสู่สังคม โดยวิเคราะห์จากความต้องการของชุมชนเป็นหลัก คือ ด้านการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัย
นายชวลิต มูลทา ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม กล่าวว่า จากการประชุมของ อบต. พบว่าความต้องการที่จำเป็นคือการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม เพื่อส่งต่อไปสู่ระดับประถมศึกษาให้มคุณภาพและมีทักษะครบถ้วนทุกด้าน ซึ่งปีนี้ อบต.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่บูรณาการการเรียนรู้ผ่านการเล่น โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (ICAP) จึงอยากได้รับองค์ความรู้ทางวิชาการเพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนำต้นแบบจากโรงเรียนสาธิตศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาปรับใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อบต.ที่มีนักเรียนจำนวน 62 คน โดยการเรียนรู้แบบลงมือกระทำเพื่อให้เด็กๆ มีประสบการณ์สำคัญ, มีความคิดริเริ่ม, มีพัฒนาการสมวัย, มีทักษะสมอง EF, มีทักษะศตวรรษที่21, มีความมั่นคงมั่นใจ, เชื่อมั่นในศักยภาพของตน และพัฒนาไปสู่โรงเรียนในระดับที่สูงขึ้นทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และการปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ให้เป็น Active Learning Space ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบูรณาการร่วมกันกับสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จากการประชุมร่วมกัน เกิดแนวทางในการดำเนินโครงการร่วมกันอย่างต่อเนื่องโดยจะบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้วยต้นทุนต่ำแต่ได้ผลตอบแทนสูง มีความเป็นธรรมและเท่าเทียม เป็นการพัฒนาเด็กตามศักยภาพของแต่ละบุคคลเพื่อเป็นต้นทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าให้กับสังคมและประเทศชาติ