ตามที่วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นร่วมกับ UEH University ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมจัดกิจกรรม Student Exchange Program (Inbound – Outbound) อบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้การลงนามข้อตกลงทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และUEH University ภายใต้ชื่อโครงการ Building Bridges: Fostering Global Citizenship and Civic Participation Among CELG and COLA Students ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2566 ณ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ผ่านมานั้น โดยวิทยาลัยได้มีตัวแทนนักศึกษาระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยจำนวน 16 คน พร้อมผู้บริหาร และบุคคลากร 3 คน เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมทางวิชาการ วิจัย การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนานักศึกษาของทั้งสองสถาบัน โดยเชื่อมช่องว่างระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองโลก และส่งเสริมความรู้สึกรับผิดชอบและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสังคม
ทั้งนี้ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับ UEH University ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ได้มีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เข้าร่วมโครงการด้วย ภายใต้ชื่อโครงการ COLA CELG POLLAW Student Exchange Program “Roadmap Towards Sustainable Development” ระหว่างวันที่ 20 -28 ธันวาคม 2566 ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเลย ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการและพันธกิจของวิทยาลัยที่มุ่งไปสู่ความเป็นนานาชาติ โดยวิทยาลัยได้มีตัวแทนนักศึกษาระดับปริญญาตรีของวิทยาลัย จำนวน 35 คน นักศึกษาปริญญาตรีจาก College of Economics, Law and Government (CELG), UEH University จำนวน 13 คน พร้อมคณาจารย์ จำนวน 2 คน เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยในการพัฒนาการศักยภาพทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม มหาวิทยาลัยบูรพา ได้นำคณาจารย์ และนักศึกษาจำนวน 34 คนเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ซึ่งทำให้นักศึกษาทั้ง 3 สถาบันได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การพัฒนานักศึกษาเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและความสำนึกในความเป็นพลเมืองโลก อีกทั้งบุคคลากรของวิทยาลัยได้เข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงในแต่ละกิจกรรม ส่งผลให้พัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการต่อยอดในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป โครงการนี้ออกแบบให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย ภายในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดเลย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาผู้เข้าร่วมได้รับโอกาสในการเรียนรู้และประเมินค่าวัฒนธรรมของประเทศไทย ทำความเข้าใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น กลุ่มผู้ประกอบการสังคม การท่องเที่ยวทางการเกษตรและการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ยั่งยืน
วันที่ 21 ธันวาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร. พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กล่าวเปิดงานและต้อนรับคณะนักศึกษาแลกเปลี่ยนจาก College of Economics, Law and Government (CELG), UEH University ซึ่งท่านคณบดีกล่าวถึงความสำคัญระหว่างความร่วมมือกับ UEH ที่เริ่มต้นในปี 2019 จากการร่วมจัดประชุมวิชาการนานาชาติ ณ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีคณาจารย์จาก COLA เข้าร่วมในการนำเสนอผลการทางวิชาการ ทั้งนี้ท่านคณบดีได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการนี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของนักศึกษาทั้ง 2 สถาบัน
โดย Dr. Nguyen Van Du, รองคณบดีจาก CELG กล่าวขอบคุณต่อการต้อนรับที่อบอุ่นที่ได้รับจากนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของ COLA พร้อมกล่าวถึงความสำเร็จในการจัดกิจกรรมโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องในเดือน สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ UEH University จากนั้นเป็นการบรรยายเพื่อให้นักศึกษาได้เห็นถึงภาพรวมเกี่ยวกับระบบการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดย ดร.พัฒนพงศ์ โตภาคงาม ดร.ณรงค์เดช มหาศิริกุล ผศ.ดร. ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม ผศ.ดร. กฤษดา ประชุมราศี และ ดร.ปานปั้น รองหานาม
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ณรงค์ เกียรติคุณวงศ์ ได้มอบหมายและแบ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา COLA-CELG เป็น 3 กลุ่ม พร้อมมอบหมายหัวข้อในการจัดเตรียมนำเสนอผลงานในช่วงตลอดการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการนี้ เพื่อนำเสนอผลลัพธ์พร้อมสรุปกิจกรรมในวันสุดท้ายของโครงการโดยเป็นการทำงานเป็นทีมร่วมกันระหว่างนักศึกษาของทั้ง 2 สถาบัน
วันที่ 22 ธันวาคม 2566 , ในช่วงเช้า นักศึกษาจาก COLA และ UEH ได้เข้าศึกษาวิสาหกิจชุมชนปลาแปรรูปบ้านโพธิ์ตาก อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุในชุมชน กลุ่มนี้สร้างรายได้จากปลาเส้น ปลาส้มก้อน ปลาส้มตัว และหม่ำปลา เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งสร้างรายได้ให้สมาชิกทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้คนในชุมชนและต่างจังหวัด จนเป็นที่รู้จักกันดีในชุมชนเพราะเป็นการขายผลิตภัณฑ์สินค้าที่ทำด้วยคุณภาพจึงเป็นการบอกต่อแบบปากต่อปาก เนื่องจากการทุ่มเทในการรักษาผลิตภัณฑ์คุณภาพและช่วยในการพัฒนาชุมชนโดยตรงให้แก่ผู้บริโภคโดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง
จากนั้นในช่วงบ่ายได้เข้าเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติน้ำพอง และจุดชมวิวหินช้างสี พร้อมพูดคุยและสอบถามถึงสภาพแวดล้อมประโยชน์และปัญหาต่าง ๆ ทีได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน กับเจ้าหน้าที่ดูแลอุทยาน เจ้าหน้าที่ได้พูดถึงประโยชน์ที่ผู้อยู่อาศัยได้รับจากเขื่อนเป็นที่มาของรายได้ในด้านการประมงและพลังไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่อุทยานยังกล่าวถึงปัญหาและความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่อุทยานต้องเผชิญ จากไฟป่าเป็นปัญหาหลักที่กำลังเผชิญอยู่และการมีบุคลากรที่จำกัดในการดูแลพื้นที่ใหญ่ของอุทยาน หลังจากนั้นนักศึกษาได้ทำการเดินสำรวจและชมความสวยงาม ณ จุดชมวิวหินช้างสี ทางบนเส้นทางยาว 1.7 กิโลเมตร พร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับป่าและธรณีวิทยาผ่านป้ายบอร์ดตามทางเดินเป็นระยะ ๆ
23 ธันวาคม 2566, นักศึกษาจาก 3 สถาบัน ได้แก่ COLA จำนวน 30 คน UEH จำนวน 13 คน และนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (POLLAW) จำนวน 30 คน เข้าร่วมกิจกรรม “Leadership Training Program” โดย Dr. Xenia Garnace โดยได้มีการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันเป็นทีม “Community Walk” นักศึกษาถูกแบ่งเป็นหกกลุ่มและสมาชิกทุกคนเดินทางในระยะทางที่กำหนดขณะที่เท้าถูกผูกต่อกันวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้คือนักศึกษาได้เรียนรู้ที่จะเดินทางไปด้วยกันเป็นทีม จากนั้นเป็นกิจกรรม “Dress Your Leader” นักศึกษาได้รับมอบหมายให้เลือกตัวแทนจากกลุ่มของตัวเองโดยแต่ละกลุ่มออกแบบการแต่งตัวให้กับผู้นำของกลุ่ม กิจกรรมนี้ช่วยให้นักศึกษาสะท้อนมุมมองของพวกเขาต่อคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้นำและทำให้เข้าใจลักษณะของผู้นำที่พวกเขาตั้งใจจะเป็นในอนาคตทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก จากนั้นในช่วงบ่าย นักศึกษาทั้ง 3 สถาบัน เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งนักศึกษาได้เรียนรู้ด้านเงินตราไทยที่สำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จากนั้นได้เข้าร่วมชมการแสดงโขน ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมไทยที่มีคุณค่าและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
24 ธันวาคม 2566 นักศึกษาแลกเปลี่ยนเข้าเยี่ยมชม “มีกิน ฟาร์ม” ซึ่งเป็นฟาร์มออร์แกนิก ในอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นี่เป็นทั้งฟาร์มออร์แกนิกและร้านอาหาร อีกทั้งยังมีเวิร์กช็อปต่างๆ และบริการฟาร์มสเตย์ครบครัน มีกินฟาร์มปลูกผักและผลไม้หลากหลายชนิด เลี้ยงเป็ดและไก่เอง ทีมครัวใช้เทคนิคการปรุงเรียบง่ายแต่ได้จานอร่อยที่เน้นรสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบจนทำให้ได้รับ มิชลินไกด์ ซึ่งเจ้าของตั้งใจอยากให้ฟาร์มแห่งนี้เป็น “Isan Home of Mental Healing” ซึ่งในระหว่างการถาม-ตอบ นักศึกษาได้ถามเกี่ยวกับความท้าทายที่มีกินฟาร์มเผชิญ หนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่เจ้าของระบุคือระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้ยากสำหรับคนที่ไม่มีรถเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ หลังจากการบรรยาย นักศึกษาได้เข้าใจหลักการการผสมผสานของการเกษตรอินทรีย์ ศิลปะ การทำอาหาร และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรม การทำภาพวาดใบไม้และการทำผ้ามัดย้อม ร่วมถึงการทำขนมบัวลอย และพิซซ่าโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในฟาร์มอีกด้วย
25 ธันวาคม 2566 นักศึกษาได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ณ แก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จังหวัดเลย โดยได้สัมภาษณ์เจ้าของกิจการในท้องถิ่นเพื่อเข้าใจเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทำให้พบว่าเจ้าของกิจการต้องเผชิญกับความยากลำบากในการหาวัตถุดิบ เช่น มะพร้าว เนื่องจากต้องซื้อมาจากจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้น แต่บางเจ้าเป็นแบบธุรกิจในครัวเรือนซึ่งช่วยให้สามารถผลิตสินค้าของตนเองและขายในราคาที่ถูกกว่า ส่งผลให้ได้กำไรที่มากกว่า หลังจากนั้นได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านไทดำซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นกำเนิดจากเวียดนาม ซึ่งนักศึกษาได้ รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และการอนุรักษ์วัฒนธรรม วิธีการดำเนินชีวิตของชาวไทดำที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เชื้อชาติของพวกเขาไว้เพื่อสืบทอดให้รุ่นต่อ ๆ ไป ทั้งนี้นักศึกษายังได้ลองใส่ชุดเครื่องแต่งกายของชาวไทดำดั้งเดิม พร้อมร่วมแสดงการละเล่นและร้องเพลง ฟ้อนรำ กับชาวไทดำอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจร่วมกันในชุมชน และสร้างรอยยิ้ม ความประทับใจให้กับนักศึกษา COLA และ UEH อย่างมาก
26 ธันวาคม 2566 เวลา 13.00 -17.00 น นักศึกษาเข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปและการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Sustainable Development and Subregional Cooperation Mechanisms” การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืนและกลไกการร่วมมือในระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดย คุณสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันลุ่มน้ำโขง พร้อมกันนี้นักศึกษาร่วมทำกิจกรรม workshop การสนทนาแบบกลุ่มเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสในการบรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกลไกการร่วมมือในระดับภูมิภาค
27 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 น. ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร จาก COLA นำคณะคณาจารย์และนักศึกษาจาก UEH เข้าคาราวะท่านกงสุลเวียดนาม ณ กงสุลเวียดนามประจำจังหวัดขอนแก่น เพื่อที่จะเข้าใจนโยบายต่าง ๆ ของเวียดนามในการดำเนินงานด้านการต่างประเทศ รวมถึงซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านกงสุลในบทบาทของการดำเนินงานในจังหวัดขอนแก่น และของคนเวียดนามที่พำนักอยู่ในประเทศไทย จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมการนำเสนอสรุปโครงการของแต่ละกลุ่มตามหัวข้อนำเสนอที่ได้รับมอบหมายในวันแรกของโครงการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดกิจกรรมทั้งโครงการที่ผ่านมา นักศึกษาแลกเปลี่ยนจาก COLA และ UEH ได้รับความรู้และเข้าใจเรื่องการพัฒนาเศษฐกิจที่ยั่งยืน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากภาวะโลกร้อน อีกทั้งความเหมือนและความต่างระหว่างประเทศไทยและเวียดนามในด้านการดำรงชีวิต วัฒนธรรม เศษฐกิจ และสังคม อีกทั้งนักศึกษา COLA และ UEH ยังได้สะท้อนถึงการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในครั้งนี้ว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม ได้เข้าใจถึงการพัฒนาที่ยั่วยืนของคนในชุมชน ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การทำงานเป็นทีม ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ๆ และการพัฒนาตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ และนักศึกษาแลกเปลี่ยนจาก UEH ยังแสดงความสนใจที่จะมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท COLA อีกด้วย