แอปฯ เภสัชกรหุ่นยนต์ตอบคำถามการใช้ยาผ่านไลน์ ! คว้าชัย ใน KKU Digital Transformation Academy & Contest โครงการประกวดผลงานด้านการพัฒนาดิจิทัลในองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล และ กองบริหารงานกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการ “ประกวดผลงานด้านการพัฒนาดิจิทัลในองค์กร (KKU Digital Transformation Academy & Contest)” เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถในการจัดการระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพต่อการทำงาน โดยมี  ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.เตช บุนนาค อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายมหาวิทยาลัยดิจิทัล ผศ.ดร.พิพัธน์ เรืองแสง  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร บุคลากรและนักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน ณ ชั้น 3  สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การจัดโครงการประกวดผลงานด้านการพัฒนาดิจิทัลในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบและกระบวนการทำงานของบุคลากรในหน่วยงานให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความสำเร็จ ความภูมิใจในผลงานที่เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีความทันสมัยและมีความสะดวก รวดเร็วต่อการทำงานในหน่วยงาน องค์กร อีกทั้งยังสร้างเครือข่ายการดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบงานและเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดพันธกิจและนโยบายในการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นในช่วง ปี พ.ศ. 2562-2566    ด้าน Ecological ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย  ทั้งการจัดการศึกษา พัฒนาระบบการทำงานให้ทันสมัย ก้าวทันเทคโนโลยี   ซึ่งการ ปรับเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล  Digital Transformation เป็นสิ่งที่ มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญอย่างมาก  ในหลายปีมานี้  โดยเฉพาะด้านบุคลากร ต้องมีการสร้างบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้าน Digital technology ที่ลงลึกใน ระดับที่สามารถทําวิจัย และพัฒนาออกมาเป็นนวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้

“วันนี้รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่ายในการจัดงานครั้งนี้ขึ้น                ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีมาตั้งแต่ 20 กว่าปีแล้ว  โดยจะเห็นตัวอย่างจากการขายของออนไลน์ เป็นอาชีพที่คนเริ่มนิยมทำเป็นจำนวนมาก ที่ได้ใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ทำให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2018 ที่ไทยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจาก Singularity University (SU) หรือชุมชนการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมระดับโลกจากซิลิคอน วัลเลย์ มาบรรยายให้ความรู้ทางด้านนวัตกรรม ทำให้องค์กรทั้งรัฐและเอกชน เกิดความตระหนักและตื่นตัวในด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวต่อไป และในวันนี้ได้เห็นหลักฐานได้ชัดว่าความมุ่งหวังที่เราพยายามต่อยอดมานั้น ได้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงกับทิศทางของประเทศ โดยเฉพาะการจัดงานในวันนี้ เป็นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นจากผลงานของบุคลากร  ซึ่งไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้น   แต่ผลงานหลายชิ้นยังสามารถนำไปขยายผล ใช้ในระดับประเทศได้อีกด้วย ” ดร.ณรงค์ชัย กล่าว

โดยในงานมีการนำเสนอผลงาน จากผู้เข้าประกวด 99 ผลงานใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้าน Disruption ด้าน Innovation และด้าน Iteration ซึ่งมีผลงานที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย จำนวน 25   ผลงาน จากด้าน Iteration และด้าน Innovation ซึ่งผลงานแอปพลิเคชัน Gobot เภสัชกรหุ่นยนต์สนทนา จากทีม Pharmacist Chat Bot เป็นผู้ที่ คว้ารางวัลชนะเลิศในด้าน Innovation โดยได้รับรางวัล ระดับ Legend  ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของการประกวดครั้งนี้

ดร.ภก.ทวีศักดิ์ มโนมยิทธิกาญจน์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หนึ่งในสมาชิกทีม Pharmacist Chat Bot จากศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดร.ภก.ทวีศักดิ์ มโนมยิทธิกาญจน์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หนึ่งในสมาชิกทีม Pharmacist Chat Bot จากศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยความรู้สึกจากความสำเร็จในครั้งนี้ว่า รู้สึกตื่นเต้นและเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากผลงานแอปพลิเคชัน Gobot เป็นเภสัชกรหุ่นยนต์สนทนาผ่านทางไลน์แอปพลิเคชัน (LINE Chat Bot Application) โดยผู้ใช้งานสามารถสอบถามวิธีการใช้ยา ด้วยการพิมพ์ชื่อยา   หลังจากนั้นเภสัชกรหุ่นยนต์จะประมวลผล แสดงข้อมูลยาและคลิปวิดีโอสั้นสำหรับยานั้น ๆ

“เราได้เริ่มทดลองกับผู้ป่วยที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคยกับการใช้ไลน์แอปพลิเคชันเป็นอย่างดี    จึงเป็นจุดแข็งในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา อีกทั้งยังช่วยสื่อสารข้อมูลการใช้ยาให้แก่ผู้ป่วย ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวกรวดเร็วและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาเพิ่มขึ้น ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา  เพราะว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหลาย ๆ ฝ่ายที่ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน หลังจากนี้จะพัฒนาแอปพลิเคชันต่อในด้านการใส่ข้อมูลยาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้งาน  เป็นอีกนวัตกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ให้บริการ และ ผู้รับบริการ” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

นอกจากทีม Pharmacist Chat Bot ที่ชนะเลิศการประกวดในด้าน Innovation แล้ว ในด้าน Iteration ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม พตส IT และรางวัล Popular Vote ได้แก่ ทีม MO-IACUC  ผู้ที่สนใจสามารถชมภาพกิจกรรม พร้อม รายละเอียดของทีมที่ได้รับรางวัลได้ที่

https://drive.google.com/drive/folders/1fppnhCgIJqz8CwJ07VfR_V9NPQwkxqcO

ภาพ : อรรถพล ฮามพงษ์

ข่าว : นางสาววนิดา บานเย็น  นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ กองสื่อสารองค์กร

Scroll to Top