ฮือฮา ! ทีมนักวิจัย มข.พบ บึ้งสกุลใหม่ของโลก แหล่งอาศัยป่าไผ่บนเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร

        “การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบบึ้งสกุลใหม่ที่สำคัญครั้งหนึ่งของโลก  ถือเป็นการค้นพบบึ้งสกุลแรกของเอเชียในรอบ 104 ปี ในโลกนี้ยังไม่เคยมีบึ้งตัวไหน ที่นิเวศวิทยาผูกติดอยู่กับต้นไผ่เฉกเช่นบึ้งชนิดนี้  บึ้งชนิดนี้จัดเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” 

เมื่อวันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565  เวลา 09.00-12.00 น. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการแถลงข่าว การค้นพบบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน บึ้งสกุลใหม่ของโลก โดยมี  รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี  โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน รองศาสตราจารย์ ดร.ปรเมศ  บรรเทิง  รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และการต่างประเทศ  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน ในการนี้มี  อาจารย์ ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าคณะวิจัย นายชวลิต ส่งแสงโชติ นักแมงมุมวิทยาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายทรงธรรม สิปปวัฒน์  (โจโฉ ยูทูปเบอร์ด้านป่าไม้ ธรรมชาติ) นายวุฒิไกร ใข่แก้ว   นักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน  ผู้ที่สนใจ ร่วมการแถลงข่าวเป็นจำนวนมาก  ณ ห้อง 5101 ห้องสมุด คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี  โชติษฐยางกูร     คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี  โชติษฐยางกูร     คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การค้นพบสัตว์สกุลใหม่ครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย ทั้งคณะวิจัยทางด้านอนุกรมวิธาน  รวมไปถึง คุณทรงธรรม สิปปวัฒน์  หรือ โจโฉ ยูทูปเบอร์ด้านป่าไม้ ธรรมชาติ ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 4 ล้านคน นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลใน Generation นี้ สนใจระบบนิเวศวิทยาที่เกี่ยวกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ  ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งในการค้นพบครั้งใหม่ในครั้งนี้ และ ขอให้กำลังใจนักวิจัยทุกท่าน ในการค้นคว้าในด้านนี้ต่อไป ในฐานะของมหาวิทยาลัย และ คณะ ยินดีให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยในทุกๆด้านที่จะทำให้ภาคการเกษตรมีความยั่งยืน  ได้ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ และ เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน

อาจารย์ ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยา และ โรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าคณะวิจัย

อาจารย์ ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยา และ โรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า การค้นพบครั้งสำคัญนี้จุดเริ่มต้นมาจาก คุณชวลิต ส่งแสงโชติ นักแมงมุมวิทยาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดตามคุณโจโฉทาง Facebook มานาน  กระทั่งวันหนึ่งคุณโจโฉโพสต์รูปบึ้งใน Facebook แล้วรู้สึกแปลกตา  จึงได้ติดต่อกลับไปเพื่อขอศึกษา ต่อจากนั้นคุณโจโฉได้ส่งตัวอย่างบึ้งมาให้  คุณชวลิตจึงได้นำมาปรึกษากับตนเอง พบว่ามีความแตกต่างจากบึ้งที่เคยพบ  หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยจึงได้เดินทางไปที่จังหวัดตาก เพื่อพบคุณโจโฉ และ ค้นหาบึ้งลักษณะดังกล่าวอีกครั้ง เมื่อเจอและได้ทำการศึกษาค้นคว้าจึงพบว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญครั้งหนึ่งของโลก เพราะเป็นการค้นพบบึ้งสกุลแรกของเอเชียในรอบ 104 ปี หลังจากการค้นพบครั้งหลังสุดเมื่อปี ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) นอกจากนี้ “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” ยังเป็นบึ้งสกุลแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกค้นพบและวิจัยโดยคนไทย

“ในประเทศไทยมีบึ้งอยู่หลายชนิด จากการศึกษานิเวศวิทยาได้แบ่งบึ้งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะการดำรงชีวิตคือ “บึ้งดิน” มีลักษณะอาศัยบนพื้นดินโดยการขุดรูลึกลงไปในโพรงดิน และ “บึ้งต้นไม้” โดยจะอาศัยภายในรูหรือโพรงของต้นไม้  ซึ่ง “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” จัดอยู่ในกลุ่มบึ้งต้นไม้ ซึ่งบึ้งชนิดนี้นับว่าเป็นบึ้งสกุลแรก และ ชนิดแรกที่ดำรงชีวิตอยู่ในปล้องไผ่เท่านั้น ! โดยจะอาศัยอยู่ในป่าไผ่บนเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ถือว่าเป็นการดำรงชีวิตที่แปลกและมหัศจรรย์อย่างมาก เพราะมีลักษณะการดำรงชีวิตที่จำเพาะมาก”

และด้วยความที่บึ้งสกุลใหม่นี้ ถูกค้นพบที่จังหวัดตาก กอปรกับเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ อาจารย์ ดร.นรินทร์ นายทรงธรรม และ คณะวิจัย จึงเห็นควรตั้งชื่อ บึ้งสกุลดังกล่าวว่า Taksinus เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับจังหวัดตาก และ ถวายพระเกียรติแด่ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ที่ทรงเคยดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตาก  และ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง  ซึ่งพระปรีชาสามารถครั้งนั้นได้รวบรวมชนชาวไทยให้เป็นปึกแผ่นสืบมา

อาจารย์ ดร.นรินทร์ กล่าวต่อถึงความพิเศษในการค้นพบครั้งนี้ว่า  “การค้นพบสิ่งมีชีวิตสกุลใหม่ ถือว่าเป็นสิ่งที่พบน้อยมาก เหมือนเป็นการค้นพบเผ่าพันธุ์ใหม่  ซึ่งการตั้งชื่อ“บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน”  ในที่นี้ ใช้ Taksinus bambus  หมายความถึงคำว่า “ไผ่” แสดงถึงลักษณะการดำรงชีวิต ที่มีเอกลักษณ์  ซึ่งการค้นพบบึ้งที่อาศัยอยู่ในปล้องไผ่ถือว่ามีความน่าสนใจมากๆเพราะว่า ในโลกนี้ยังไม่เคยมีบึ้งตัวไหน ที่นิเวศวิทยาผูกติดอยู่กับต้นไผ่เฉกเช่นบึ้งชนิดนี้ ฉะนั้น สาเหตุที่ต่างประเทศทั่วโลก ฮือฮากับการค้นพบครั้งนี้เพราะ บึ้งส่วนใหญ่จะพบในดิน หรือ บนต้นไม้ นั่นเอง” อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยา และ โรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าคณะวิจัย กล่าว

นายทรงธรรม สิปปวัฒน์  (โจโฉ ยูทูปเบอร์ด้านป่าไม้ ธรรมชาติ)

นายทรงธรรม สิปปวัฒน์  (โจโฉ ยูทูปเบอร์ด้านป่าไม้ ธรรมชาติ) เปิดเผยว่า ตนเองชอบเลี้ยงสัตว์ และ สนใจสัตว์ชนิด เล็กๆ อยู่แล้ว  กระทั่งวันหนึ่งอาเจอบึ้งชนิดนี้ตายอยู่บนพื้น  จึงเก็บมาฝากเมื่อเห็นก็รู้สึกแปลกตา  ต่างจากตัวอื่นๆที่เลี้ยงไว้ จึงนำรูปมาโพส ต่อจากนั้นได้รับการติดต่อจากคุณชวลิต ส่งแสงโชติ นักแมงมุมวิทยาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ว่าต้องการศึกษาบึ้งดังกล่าวเพราะมีความแตกต่างจากบึ้งที่เคยพบ

“ผมตามหาด้วยตนเองที่พื้นดินอยู่หลายสัปดาห์ ก็ไม่พบ  ต่อมาก็ไปหาบนต้นไม้ก็ไม่พบ  กระทั่งมาเจอตัวเล็กๆ เหมือนเป็นตัวลูกที่ต้นไผ่  จึงรู้ว่ามันไม่ได้อยู่บนต้นไม้เหมือนบึ้งที่เคยพบ ต่อจากนั้นจึงได้พูดคุยกับ คณะวิจัยที่จะไปตามหาบึ้งตัวที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ร่วมกัน” โจโฉ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง กล่าว

ทั้งนี้การค้นพบ บึ้งต้นไม้สกุลใหม่ของโลก Taksinus bambus ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยนานาชาติ Zookeys เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 และ ยังได้รับเกียรติในการนำรูปของบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินขึ้นปกวารสารทางวิทยาศาสตร์ Zookeys ฉบับที่ 1080 ในปี 2022 วารสารทางด้านสัตววิทยาที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกด้วย

ในขณะเดียวกันแม้ว่าการค้นพบ “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงยาก และ มีการทำเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง แต่ในปัจจุบันพื้นที่ป่าในประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 31% เท่านั้น หากในอนาคตพื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการจัดการการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า และ ทรัพยากรป่าไม้  “บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน” ก็เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องมาจากลักษณะการดำรงชีวิตผูกติดกับป่าไผ่และสามารถพบได้บนพื้นที่เขาสูงในภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น ฉะนั้นการศึกษาวิจัยสัตว์เหล่านี้จึงมุ่งหวังให้เป็นที่รู้จัก และ นำไปสู่การศึกษาด้านอื่น ๆ เช่น ชีววิทยา นิเวศวิทยา หรือ การเพาะเลี้ยง ต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางการอนุรักษ์ป้องกันการสูญพันธุ์ สร้างความหลากหลาย สมบูรณ์ให้ระบบนิเวศของประเทศต่อไป

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : บริพัตร ทาสี , คณะนักวิจัย

Breaking news! KKU research team discovers World’s new species of gnat-like insect living in bamboo forest, 1,000 m over sea level

https://www.kku.ac.th/12573

 

Scroll to Top