ปัจจุบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยมีมากกว่า 20 ค่าย แต่ละค่ายมักมีเกณฑ์การจัดอันดับที่แตกต่างกัน สำหรับ ISC World University Rankings เป็นอีกค่ายหนึ่งของฝั่งตะวันออกกลาง ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นติดอันดับทุกปี สำหรับปีนี้ผลการจัดอันดับจาก ISC World University Rankings 2021 มหาวิทยาลัยขอนแก่นติดอันดับที่ 4 ของประเทศ อันดับที่ 14 ของอาเซียน และอันดับที่ 900 ของโลก และมีผลคะแนนสูงกว่าปีที่ผ่านมา
เกณฑ์ในการพิจารณาจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกใน ISC World University Rankings 2021 โดย Islamic World Scientific Citation Center (ISC) ประกอบด้วยตัวชี้วัดในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) Research 60%, 2) Education 10%, 3) International Activity 15% 4)Innovation 15%
โดยข้อมูล 3 ด้านแรก ได้แก่ Research Education และ International Activity ได้จากฐานข้อมูล InCites ของ Clarivate Analytics & Web of Science และด้านที่ 4 ได้แก่ Innovation 15% ได้จาก US Patent & Trademark Office และร้อยละของ Industry Collaborations ในรอบ 3 ปี โดยมีรายละเอียดปรากฏที่ https://wur.isc.ac/Home/Methodology
ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า “ISC World University Rankings 2021 น้ำหนักส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านวิจัยร้อยละ 60 ซึ่งจะแตกต่างจากค่ายอื่น ที่มีน้ำหนักของ Reputation หรือ ความมีชื่อเสียง ความเป็นที่รู้จัก โดยปกติผลงานด้านวิจัยจะไม่เปลี่ยนทันที จะต้องมีการทำผลงานสะสมเรื่อย ๆ มาเป็นระยะเวลานาน โดยยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มุ่งเน้นในเรื่องของวิจัยที่มีคุณภาพมากขึ้น เน้นงานวิจัยที่ทำเป็นกลุ่มก้อน หรือทำเป็น Research Program มากขึ้น และเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งเรามีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านวิจัยลักษณะนี้มาประมาณ 3 ปีแล้ว ดังนั้นผลจากการจัดอันดับของค่ายที่เน้นผลงานวิจัยอันดับของมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ”
รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังกล่าวต่ออีกว่า “การจัดอันดับที่สูงขึ้นเป็นผลมาจาก การมีผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านวิจัย ร่วมกับ ด้าน International หรือ ความเป็นนานาชาติ โดยเฉพาะงานวิจัยและการบริการวิชาการต่าง ๆ ที่มีความร่วมมือกับนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเทียบในปีที่ผ่านมาแล้วของ Ranking นี้ คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นดีขึ้นในด้านวิจัยกับด้านความเป็นนานาชาติ ซึ่งก็สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย ฯ สองอันนี้เราดีขึ้น แต่ด้าน Education กับ Innovation คะแนนจะใกล้เคียงจากเดิมอยู่ เพราะฉะนั้นการที่ด้านวิจัยกับด้านความเป็นนานาชาติ สองด้านนี้ดีขึ้นถือว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพมากขึ้นและ เรามีความเป็นนานาชาติที่ดีขึ้น คือ มีความร่วมมือกับนานาชาติทั้งทางด้านการวิจัย การบริการวิชาการและการเรียนการสอนมากขึ้น จึงสะท้อนออกมาทางการจัดอันดับ Ranking นี้”
นอกจากนี้รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังกล่าวถึงความสำคัญในการจัดอันดับ (Ranking) จากสถาบันต่าง ๆ ว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นเป้าหมายสูงสุด เพียงแต่ Ranking เป็นตัวที่ให้เราช่วยในการเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยอื่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน ทั้งเขาและเรานำมาแลกเปลี่ยน ปรับปรุงตัวเอง เพราะฉะนั้น Ranking เป็นตัวที่ช่วยเทียบเคียงที่ดี หลากหลายค่ายก็จะมีตัวชี้วัดที่หลากหลาย ให้เราสามารถเอามาใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกได้
รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเสริมอีกว่า วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น “World class Research and Development University” เป้าหมายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นคือการเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิจัยระดับโลก ซึ่งหากมีตัวชี้วัดวิจัยระดับโลก แน่นอนว่า Ranking ตัวชี้วัดด้านจะเป็นการวิจัยเป็นหลัก นอกจากนี้ด้าน Development University ก็สำคัญ คือการเอาองค์ความรู้ มาพัฒนาชุมชน สังคม การจะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกก็ต้องมีผลงานในระดับหนึ่ง เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและนานาชาติ แล้วนำผลงานเหล่านั้นมาช่วยพัฒนาสังคม ชุมชนของประเทศไทยให้ดีขึ้น
รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนให้ผลงานเกิดขึ้น “โดยเฉพาะอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร เพราะว่าผลงานโดยส่วนหนึ่งก็เป็นงานวิจัยที่อาจารย์ทำ หรือแม้กระทั่งนักศึกษาที่เป็นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ที่ได้ทำงานวิจัยร่วมกัน และสร้างผลงานเหล่านี้มา สายสนับสนุน บุคลากรต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างผลงานเหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ทำเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มที่ทำเรื่องอนุสิทธิบัตร กลุ่มที่ทำเรื่องของ innovation ต่าง ๆ เป็นเบื้องหลังที่ทำให้เราสำเร็จ เพราะฉะนั้นบุคลากรทุกกลุ่มก็มีส่วนร่วมในผลงาน หรืออันดับ Ranking ที่ขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกฝ่าย ทุกส่วนที่มีส่วนร่วมในผลงานตรงนี้ และก็น่าจะเป็นความภาคภูมิใจกลับไปให้กับอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทุกคน”
ตรวจทานแก้ไขโดย ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เรียบเรียง จิราพร ประทุมชัย กองสื่อสารองค์กร