อาจารย์ ดร.ธนพงศ์ อินทระ อ.ประจำสาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าคณะวิจัย พร้อมนักศึกษาผู้ร่วมทีมวิจัย คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2565 จาก วช. จากผลงาน “ระบบตรวจจับบุคคลอำพรางอาวุธปืนผ่านการวิเคราะห์ภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิด”
….. จากการที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้พิจารณามอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2565 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ให้แก่ อาจารย์ดร.ธนพงศ์ อินทระ อ.ประจำสาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าคณะวิจัยและทีมนักวิจัย จากผลงาน “ระบบตรวจจับบุคคลอำพรางอาวุธปืนผ่านการวิเคราะห์ภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิด” ซึ่งเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวมในการป้องกันอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์การก่ออาชญากรรม ซึ่งในปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่ประสบปัญหาบ่อยครั้ง เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านทอง และธนาคาร แม้ว่าในปัจจุบันกล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV เป็นที่นิยมและมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อเฝ้าระวังและติดตามดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่นั้น แต่ไม่สามารถแจ้งเตือนหรือตรวจจับได้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ คือเหตุการณ์อะไร ทำให้กล้อง CCTV ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น
…..อาจารย์ดร.ธนพงศ์ อินทระ อ.ประจำสาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวถึงการทำ Project ชิ้นนี้ว่า เป็นผลงานที่เริ่มจาก Senior Project ในหลักสูตรสารสนเทศสถิติ ที่ร่วมทำกับนักศึกษาในปี 2563 นางสาวยุภาภรณ์ วันนา และนางสาวพิมลพรรณ ชาชมพร (ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาไปแล้วทั้ง 2 คน) ซึ่ง project ดังกล่าวได้รับรางวัล รองชนะเลิศ การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 (NSC2020) และได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัล Prime Minister Award ประเภท A Digital Youth of The Year 2020 ไปแล้ว จากนั้นผลงานนี้ได้รับการต่อยอดเป็น Startup โดยได้รับการสนับสนุนจาก อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านการได้รับเงินทุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม TED Fund และเข้าร่วมโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ Business Brotherhood และผลงานแห่งความสำเร็จในครั้งนี้ขอขอบคุณผู้บริหารและบุคลากรอุทยานวิทยาศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ที่มีส่วนให้การสนับสนุน
…..อาจารย์ ดร.ธนพงศ์ อินทระ หัวหน้าคณะวิจัย ยังได้กล่าวถึงผลงาน “ระบบตรวจจับบุคคลอำพรางอาวุธปืนผ่านการวิเคราะห์ภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิด” ต่อไปว่า จากเหตุการณ์การก่ออาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความสูญเสียเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเหตุให้ห้างสรรพสินค้า ร้านทอง และธนาคาร ต้องมีการทำประกันภัยอาชญากรรมเพื่อที่จะได้รับการชดเชยหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการชดเชยต่าง ๆ นั้น ไม่อาจชดเชยชีวิตที่อาจมีการสูญเสียไปได้ ทางคณะผู้วิจัยจึงพัฒนา ระบบสำหรับตรวจจับบุคคลที่มีความเสี่ยงในการอำพรางอาวุธปืนโดยการวิเคราะห์วิดีโอจากกล้อง CCTV แบบ Realtime ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) แบบการประมวลผลเชิงลึก (Deep Learning) โดย AI จะตรวจจับสิ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งจะระบุทั้งบุคคลที่มีพฤติกรรมปกติ และที่แสดงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงในการอำพรางอาวุธปืน โดยการระบุว่าเป็นบุคคลกลุ่มใดจะใช้การประมวลผลเชิงลึก ในการแบ่งแยกบุคคลที่แสดงพฤติกรรมที่ต่างกัน และแจ้งเตือนไปยังบุคคลที่ระบุให้ได้รับข้อความแจ้งเตือน เพื่อดำเนินการป้องกันหรือระงับเหตุต่อไป ปัจจุบันระบบดังกล่าว อยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อนำไปใช้จริง ซึ่งจะช่วยให้ลดการเกิดความเสียหายทั้งทางด้านชีวิตและทรัพย์สิน ลดระดับการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงให้เล็กลง และเกิดการต่อยอดทางธุรกิจที่มาจากงานวิจัยต่อไป
…..สำหรับระบบตรวจจับบุคคลที่อำพรางอาวุธปืนผ่านกล้องวงจรปิด ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2565 จาก วช. โดยพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ จะจัดขึ้นในงานวันนักประดิษฐ์ ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น และเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทย ที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและวงวิชาการส่วนรวม โดยนอกจากได้รับรางวัลจากผลงานดังกล่าวจาก วช. แล้วในงานวันนักประดิษฐ์ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2565 นี้แล้ว อาจราย์ดร.ธนพงศ์ อินทระ ยังได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 – 2565 จากผลงาน เว็บแอปพลิเคชันสําหรับการสร้างแบบจําลอง 3 มิติของฟันเทียมเพื่อการฝึกทักษะทางด้านทันตกรรมประดิษฐ์โดยใช้เทคนิคโฟโต้แกรมเมททรี และ ผลงาน VideoQR: การซ่อนข้อมูลลงบนวิดีโอและการเรียกข้อมูลคืนผ่านการบันทึกวิดีโอซ้ำด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ อีกด้วย
ข้อมูล / ภาพ : อาจารย์ดร.ธนพงศ์ อินทระ อ.ประจำสาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รวบรวม ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข