มข. ผนึกเครือข่ายวิจัยภาคอีสาน ร่วม วช. จัดประชุมวิชาการประจำปีด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ปี 2564

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2565 เวลา 8.30 – 16.30 น.  เครือข่ายวิจัยภูมิภาค: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดประชุมวิชาการ เรื่อง “มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในการเปิดงาน และมี ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวต้อนรับ โดยมีเครือข่ายนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมงาน 50 ท่าน ณ ห้องประชุมออร์คิดบอลรูมชั้น 2 โรงแรมพูลแมนขอนแก่น ราชาออคิด

การจัดการประชุมวิชาการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการด้านต่าง ๆ ในภูมิภาคให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการของภูมิภาค และสร้างความร่วมมือด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ระหว่าง วช. กับมหาวิทยาลัยเครือข่ายในภูมิภาค

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประธานในการเปิดงาน กล่าวถึงการดำเนินงานดังกล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ได้ดำเนินโครงการวิจัยภูมิภาคด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยมีความร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับเครือข่ายวิจัย ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ กับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคกลาง กับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคใต้ กับทางมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในกรอบของความร่วมมือและข้อตกลงที่มีขึ้น วช. และเครือข่ายวิจัยภูมิภาคทั้ง 4 เครือข่าย จะได้มีการจัดกิจกรรมสำคัญในเรื่องของการประกวดวิชาการด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ในรูปแบบผสม หรือ ไฮบริด มีตติ้ง (Hybrid Meeting) ซึ่ง วช. ได้มุ่งเน้นให้มีการดำเนินการกิจกรรมการประชุมวิชาการประจำปี ด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเผยแพร่การประชาสัมพันธ์ การทำความเข้าใจ และสร้างความตระหนักในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญคือการเป็นแนวปฏิบัติที่ดี ที่ได้มีการดำเนินการในการยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และระบบของห้องปฏิบัติการดังกล่าว โดยในส่วนของการดำเนินงานในครั้งนี้ยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุน ให้ห้องปฏิบัติการที่ดำเนินการ ได้รับการตรวจประเมินเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ตามเกณฑ์ของ ESPReL Checklist ในส่วนของการรับรองความปลอดภัย และในรูปแบบของกลไกแบบยอมรับร่วมกัน (Peer Evaluation)

“คาดว่าการประชุมครั้งนี้จะทำให้เกิดนวัตกรรมทางการบริหารด้านมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการในประเทศไทย และยังเป็นเรื่องของการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพในเรื่องดังกล่าวของประเทศด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาให้เกิดตัวงานวิจัย ตัวการรับรองเชิงคุณภาพ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความเข้มแข็ง”

        ศ.ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวต้อนรับว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การประชุมวิชาการระดับภูมิภาคด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โดยมีผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิและวิทยากร ที่มาร่วมงานมาจากหลายสถาบัน อย่างที่ทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีห้องปฏิบัติการตัวอย่างที่มีผลการปฏิบัติงานด้านมาตรฐานด้านความปลอดภัยห้องปฏิบัติการที่ดี  พร้อมบริการให้คำปรึกษาแก่นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ขออวยพรให้การประชุมในครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ

        ภายในงานมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย: องค์ประกอบสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดย รศ.พญ.เนสินี ไชยเอีย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีการจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “แนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) ความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ” เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ร่วมเสวนา โดย รศ.ดร.อาทิตย์ เนรมิตตกพงศ์ หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยแม่ข่าย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.ปรัชญา เทพณรงค์ หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยแม่ข่าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผศ.ดร.ปรีชา บุญจูง หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยแม่ข่ายขนาดกลาง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผศ.ดร.วุฒิชัย สิทธิวงษ์ หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยแม่ข่ายขนาดกลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.รัฐบาล ขันธ์โพธิ์น้อย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีการบรรยายเสวนาในหัวข้อ “ความปลอดภัยข้อมูลวิจัย: รู้ก่อน ปลอดภัยก่อน” โดย อ.ดร.จุฑารพ เพชระบูรณิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ.ดร.อาภรณ์ หวังวิวัฒน์สิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหม่อมหลวงมานิดา ศุขสวัสดิ ห้องปฏิบัติการฟีโนมนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนี้ มีผลงานร่วมนำเสนอทั้งภาคโปสเตอร์และวิดีโอ รวมภาคโปสเตอร์ 16 เรื่อง และวิดีโอมากกว่า 50 เรื่อง มีนักวิจัย คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการสนใจเข้าร่วมมากกว่า 200 คน

         ในช่วงสุดท้ายของการประชุม รศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองประธานเครือข่าววิจัยภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กล่าวปิดโครงการ และเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นขอบคุณอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และผู้เข้าร่วมการประชุม ที่ให้ความสำคัญและตอบรับการเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง และกล่าวว่าสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้เล็งเห็นความสำคัญ และอยากจะพัฒนาภูมิภาคของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับประเทศ และมีความเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยลูกข่ายภายใต้กระทรวง อว. เดียวกันนั้น สามารถที่จะพัฒนาเรื่องของงานวิจัยให้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับประเทศและระดับโลกต่อไปได้

“การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ นับเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางการปฏิบัติที่ดี ระหว่างหน่วยงงานภายในภูมิภาค และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการร่วมสร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการที่จะตระหนักและให้ความสนใจในกิจกรรมการยกระดับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป” รศ.ดร.ไชยณรงค์ กล่าว

          นอกจากนี้ยังมีการประกาศผลรางวัลการนำเสนอผลงาน โดย ผศ.นสพ.ดร. สุชาติ วัฒนชัย หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์และวิทยาการสืบพันธุ์ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายดิจิทัล คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรางวัลการนำเสนอผลงานทั้งภาควิดีโอและโปสเตอร์ แบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือระดับดีเยี่ยม ระดับดีเด่น และระดับดี

รางวัลการนำเสนอผลงานภาควิดีโอ ดังนี้

รางวัลระดับดีเยี่ยม มี 5 รางวัล ได้แก่ ห้องปฏิบัติการปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ,ห้องปฏิบัติการจุลชีวศูนย์ทดสอบทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์, ห้องปฏิบัติการเคมี 24305 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ห้องปฏิบัติการเคมีสิ่งแวดล้อม ศูนย์ทดสอบทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ และห้องปฏิบัติการเคมี มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

รางวัลระดับดีเด่น มี 7 รางวัล ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคทางปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล, ห้องปฏิบัติการแก๊สโครมาโทรกราฟี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, ห้องปฏิบัติการชีววิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และห้องปฏิบัติการเคมีอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์

รางวัลระดับดี มี 8 รางวัล ได้แก่ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อาหารสัตว์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, ห้องปฏิบัติการชีววิทยาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, ห้องปฏิบัติการชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์น้ำ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, ห้องปฏิบัติการไมโครฟาวิเคชั่น สถาบันแสงซินโครตอน องค์กรมหาชน, ห้องปฏิบัติการเคมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ และห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

         ประกาศรางวัลการนำเสนอผลงานภาคของโปสเตอร์

รางวัลระดับดีเยี่ยม มีจำนวน 4 รางวัล ได้แก่ ห้องปฏิบัติการสาธารณะสุข มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ห้องปฏิบัติการเคมีทั่วไป มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร, ห้องปฏิบัติการจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พยาธิวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และห้องปฏิบัติการโปรเจกต์และธีสิส จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รางวัลระดับดีเด่น มีจำนวน 8 รางวัล ได้แก่ ห้องปฏิบัติการกลางคณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรราชธานี , ห้องปฏิบัติการเคมี จากมหาวิทยาลัยนครพนม, ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อง 1 จากมหาวิทยาลัย   ราชภัฏสกลนคร, ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เคมี จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ห้องปฏิบัติการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีสุขภาพสัตว์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ห้องปฏิบัติการกลุ่มวิจัยเพื่อการพัฒนากระบวนการผลิตไฮโดรเจนจากวัตถุดิบมวลชีวภาพ โดยจุลินทรีย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ห้องปฏิบัติการวิจัยเซลล์พันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และห้องปฏิบัติการกลาง 3623 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รางวัลระดับดี มีจำนวน 3 รางวัล ได้แก่ ห้องปฏิบัติการเคมีขั้นสูง มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, ห้องปฏิบัติการสำหรับสัตว์ทดลอง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และห้องปฏิบัติการเตรียมตัวอย่างสำหรับทดสอบโลหะหนัก จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

ข่าว /ภาพ : จิราพร ประทุมชัย , มัลลิกา นาคเล็ก นักศึกษาปฏิบัติสหกิจ กองสื่อสารองค์กร

KKU joins Isan research network and NRCT to hold the 2021 Seminar on Laboratory Safety Standard

https://www.kku.ac.th/12508

 

Scroll to Top