“ฝึกภาคสนามร่วม” Best Practice ของมข.นศ.สหสาขาวิชาลงพื้นที่ในชุมชน เรียนรู้ร่วมกัน

________มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกภาคสนามร่วม ปีการศึกษา 2564  โดยมี คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพในการจัดโครงการ  ซึ่ง ผศ.ดร.ทพญ.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร อาจารย์ประจำแขนงวิชาทันตสาธารณสุข เป็นผู้อำนวยการฝึกภาคสนามร่วม  มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2564 อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น แบ่งการฝึกภาคสนามออกเป็น 12 เขต ใน 4 อำเภอ คือ อ.น้ำพอง  อ.ซำสูง  อ.บ้านฝาง  และอ.บ้านแฮด ภายใต้การรับผิดชอบของนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จำนวน 815 คน

________เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น.  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดพิธีเปิดโครงการภาคสนามร่วม ประจำปีการศึกษา 2564 โดยมี ผศ.ดร.ทพญ.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร ผู้อำนวยการฝึกภาคสนามร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีประชาชนในชุมชนกว่า 24 คน และนักศึกษาในกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ 14 คน เข้าร่วมพิธีเปิดการฝึกภาคสนามร่วม ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  พร้อมกันนี้ ได้มีการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ให้กับนักศึกษาที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 815 คน จากคณะวิชาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพต่าง ๆ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย หลังพิธีเปิด นักศึกษาได้จัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้ร่วมกิจกรรม  และใช้โอกาสนี้ แทรกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพเพื่อชิงรางวัลอย่างสนุกสนาน ณ วัดพุทธชาดา บ้านคู  ตำบลคูคำ  อำเภอซำสูง  จังหวัดขอนแก่น

ผศ.ดร.ทพญ.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร ผู้อำนวยการฝึกภาคสนามร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น

________ผศ.ดร.ทพญ.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร  กล่าวว่า “โครงการฝึกภาคสนามร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2564 เป็นปีที่ 39 ลักษณะปฏิบัติการเป็นแบบกระบวนการเรียนรู้และเนื้อหาในรูปแบบสหสาขาวิชาชีพทำงานร่วมกัน หรือ IPE Inter-professional Education เป็นความร่วมมือของ มข. บัณฑิตเอเชีย 6 คณะ 7 สาขาวิชา โดยการสนับสนุนของสถาบันการสอนวิชาศึกษาทั่วไป วิชา GE153158 วิถีชีวิตชุมชนและการเรียนรู้ชุมชน  เป็นการฝึกปฏิบัติการวิถีชีวิตชุมชน สุขภาพชุมชน  มีการฝึกปฏิบัติการร่วมกันในคณะวิชาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพต่างๆ  มีภาคีเครือข่ายความร่วมมือเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 12 พื้นที่จาก 4 อำเภอ  ในส่วนอำเภอน้ำพอง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลกุดน้ำใส  บ้านคำแก่นคูณ  บ้านม่วงหวาน  บ้านขาม  ที่อำเภอซำสูง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลคูคำ  บ้านโนน  ที่อำเภอบ้านฝาง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลหนองบัว  บ้านแก่นท่า  บ้านป่ามะนาว และ อำเภอบ้านแฮด ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลโนนสมบูรณ์  บ้านโคกสำราญ  บ้านหนองแซง จังหวัดขอนแก่น”

________“ปีนี้อยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การระบาดของโรคมีการกระจายและระบาดรุนแรงกว่าปีที่แล้ว  ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฏีทั้งหมดเป็นระบบออนไลน์  การฝึกปฏิบัติการในพื้นที่ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน -16 ธันวาคม 2564  ซึ่งนักศึกษาและอาจารย์ปฏิบัติงานแบบลงพืนที่ได้จำนวนจำกัด 14-15 คน เพื่อฝึกทำงานร่วมกันระหว่างสหวิชาชีพต่าง ๆ มีการศึกษาเก็บข้อมูล มีการประมวลวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพชุมชน ได้รับงานศึกษาครอบครัว ศึกษาวิถีชุมชนผ่านเครื่องมือ 6 อย่าง ต้องออกแบบเครื่องมือเพื่อตอบแทนชุมชน  โดยสามารถลงทำงานได้ในบางพื้นที่ภายใต้มาตรการการป้องกันการระบาดอย่างรัดกุม  บางพื้นที่นักศึกษาต้องได้รับการคัดกรอง แยกกลุ่มเสี่ยง ต้องได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว บางแห่งต้องได้รับการตรวจ ATK ก่อน เป็นความยากลำบากในการเตรียมการให้เตรียมการเพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยง ให้เกิดความปลอดภัยต่อนักศึกษา ชาวบ้าน และอาจารย์ ซึ่งต้องจัดการและแก้ไขปัญหาให้บรรลุวัตถุประสงค์ให้ได้”

นศ.พ.ภัทรมน  คอมแพงจันทร์ (เตย) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์

________นศ.พ.ภัทรมน  คอมแพงจันทร์ (เตย) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์  กล่าวว่า  “พวกเราเป็นตัวแทนนักศึกษาฝึกภาคสนามร่วมจากเขตชุมชนที่ 6 โครงการที่ 1 ‘การรู้ หลีกเลี่ยง ความเสี่ยงจากโรคเบาหวาน’  มีจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวาน อาการของโรค และภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน  โครงการของเรา มีสมาชิกจาก 6 คณะ จำนวน 68 คน แต่วันนี้มีเพียงตัวแทนลงพื้นที่มา 14 คน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การดำเนินกิจกรรมมีข้อจำกัด ผู้ลงพื้นที่ต้องได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ไม่มีประวัติไปในพื้นที่เสี่ยง ไม่มีไข้  จึงได้ทำการไลฟ์สดผ่านระบบซูมให้กับสมาชิกที่ไม่ได้มาด้วยได้เรียนรู้ไปด้วยกัน  วันนี้ กลุ่มเป้าหมายจำนวน 20 คน และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข 4 คน ประกอบด้วยชาวบ้านที่เป็นโรคเบาหวาน และผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โดยเน้นผู้มีภาวะอ้วน โดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข และ BFO สำหรับผู้มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 31 ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง  โดยเราได้ให้มีการทำแบบทดสอบก่อนการอบรม และหลังการอบรม เพื่อเก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อไป”

นศภ.ปาณัสม์  ชายสวัสดิ์  (นุก) นักศึกษาชั้นปีที่ 3  คณะเภสัชศาสตร์

________นศภ.ปาณัสม์  ชายสวัสดิ์  (นุก) นักศึกษาชั้นปีที่ 3  คณะเภสัชศาสตร์  กล่าวว่า  “การได้มาออกค่ายฝึกภาคสนามร่วมในครั้งนี้  ทำให้ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนในสหวิชาชีพมากขึ้น ทำให้ได้รู้จักการทำงานร่วมกัน การแบ่งงานกันทำ  การได้มาทำงานในชุมชน ทำให้เราได้สัมผัสการใช้ชีวิตในชุมชนจริงๆ ทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น วิถีชีวิต ปัญหา ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น”

________โครงการฝึกภาคสนามร่วม  นับเป็นโครงการจัดการเรียนการสอนที่มีความยาวนานและยั่งยืน จนถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดี หรือ Best Practice หนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสอดคล้องกับปรัชญาการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นแนวปฏิบัติที่ดีของการเรียนรู้ร่วมกันของสหสาขาวิชา และเกิดขึ้นในชุมชนอย่างแท้จริง  นอกจากประชาชนในชุมชนจะได้รับการคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นและได้รับความรู้แล้ว ยังจะมีความตระหนักรู้ในด้านสุขภาพ  ในส่วนของนักศึกษาเอง  นอกจากจะได้รู้จักการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรสาขาต่างๆ และทำงานร่วมกับประชาชน ได้เรียนรู้ ได้รับประสบการณ์ในการศึกษาปัญหาของชุมชนตามความเป็นจริง ตลอดจนสามารถวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้นำชุมชนได้  การได้เรียนรู้วิถีชีวิตประชาชนจากพื้นที่จริง  นับเป็นการฝึกทักษะที่ดีที่สามารถนำไปต่อยอดวิชาชีพได้ในอนาคต

ข่าว    :     วัชรา  น้อยชมภู
ภาพ   :     วัชรา  น้อยชมภู / สาธิต  มั่งคั่ง  /  ประทุมมา  ทาแดง

“Joint Field Practices” – Best Practice for KKU students of multidisciplinary majors to learn in real situation with the community

https://www.kku.ac.th/12298

Scroll to Top