เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 กองสื่อสารองค์กร ได้เชิญ อาจารย์ ดร. พิมพ์นิภา หิรัณย์สร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์บรรจบ ชาทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรปลอดภัยตำบลศิลา อาจารย์สัญญา สามารถ ผู้ช่วยประธานกลุ่มฯ ร่วมด้วย คุณแม่บัวเรียน พิมพ์ศรี และ อาจารย์วราภรณ์ แวงดีสอน ชมรมส่งเสริมสุขภาพ หมู่14 หนองไผ่ ตำบลศิลา อ. เมือง จ.ขอนแก่น เครือข่ายชุมชน มข. มาร่วมรายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM. 103 MHz. โดยหัวข้อที่พูดคุยกันในรายการคือ “ผงผักนัว” ทดแทน “ผงชูรส”ดีต่อสุขภาพระยะยาว โดยมีนางสาวชุตินันท์ พันธ์จรุง นักประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
อาจารย์ ดร. พิมพ์นิภา หิรัณย์สร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย อาจารย์บรรจบ ชาทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรปลอดภัยตำบลศิลา อาจารย์สัญญา สามารถ ผู้ช่วยประธานกลุ่มฯ ได้ร่วมพูดคุยถึงความเป็นมาของการศึกษาวิจัย “ผงผักนัว” ว่าเกิดจากการประสานความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรปลอดภัยตำบลศิลา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ซึ่งมีองค์ความรู้เรื่องพืชผักสมุนไพรที่ให้รสชาติต่างๆอยู่แล้ว ประกอบกับได้ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดสกลนคร จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านการตลาดโดยกลุ่มนักศึกษาและคณาจารย์ สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มี ผศ.ดร.อารีย์ นัยพินิจ เป็นที่ปรึกษา ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ นำโดย ผศ. ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และด้านการวิจัยและพัฒนา โดย อาจารย์ ดร.พิมพ์นิภา หิรัณย์สร สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อาจารย์ ดร.พิมพ์นิภา หิรัณย์สร ได้ทำการวิเคราะห์สารอาหารแร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่ในสมุนไพรในแต่ละตัวว่าให้คุณค่าทางอาหารตามหลักโภชนาการมากน้อยเพียงใด เช่น กระเทียม หอม ใบม่อน ก้านตรง ใบมะรุม ส้มปล่อย ชะมวง ผักหวานป่า สะเดาดิน ใบเตย เป็นต้น เมื่อนำมาผสมกันในสัดส่วนที่เหมาะสมจะทำให้เกิดกลิ่นรสที่หอมนัว สามารถใช้ปรุงอาหารเพิ่มรสชาติแทนผงชูรสได้ การศึกษาในขั้นตอนต่อไป ทีมนักวิจัยต้องทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถขอเครื่องหมายรับรองทางอาหาร และปรับลดวัตถุดิบบางตัวลงเพื่อให้เหมาะสมต่อการขยายไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต
นางบัวเรียน พิมพ์ศรี ประธานชมรมส่งเสริมสุขภาพ หมู่ 14 ได้เล่าในรายการว่า ตนเองเป็นคนอีสานที่ชอบอาหารรสจัด เค็ม เผ็ด นำ และชอบใส่ผงชูรสตลอด ถ้าไม่ใส่ผงชูรส จะมีความรู้สึกไม่มั่นใจในรสชาติของอาหาร ด้วยตนเองมีวิถีการกินอย่างนี้มานาน พออายุมากขึ้น ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพ จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้มาออกกำลังกายอย่างจริงจังและปรับการกินลดเค็มตามที่หมอแนะนำ ทำให้สุขภาพดีขึ้น ดีใจมากที่ตอนนี้ที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนของเทศบาลตำบลศิลา ซึ่งชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลศิลาก็ได้ทดลองใช้ ผงผักนัว แล้ว สามารถทดแทนผงชูรสได้จริงแถมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย
อาจารย์วราภรณ์ แวงดีสอน ข้าราชการบำนาญ เล่าต่อว่า ตนเองเป็นคนที่ชอบทานอาหารอีสาน เช่น แกงอ่อม ส้มตำ เวลาทำต้องหนักน้ำปลาร้า และ ผงชูรส ถ้าไม่ใส่ก็จะรู้สึกไม่อร่อย อายุมากขึ้นทานไปนานๆ จะรู้สึกลิ้นชา ตอนทำงานไม่มีเวลาทำอาหารทานเองมักจะซื้ออาหารถุงเป็นหลัก ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าแม่ค้าใส่อะไรลงไปบ้าง หลังเกษียณอายุราชการมีเวลามากขึ้น ก็จะทำอาหารกินเอง เพราะสามารถเลือกวัตถุดิบเครื่องปรุงรสที่ดีมาประกอบอาหารทำให้สุขภาพดีขึ้นเห็นได้อย่างชัดเจน
อาจารย์ พิมพ์นิภา หิรัณย์สร กล่าวในตอนท้ายของรายการว่า เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอผงชูรสก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่า ผงชูรสจะไม่มีข้อดี ถ้าเรารับประทานแต่พอดีในปริมาณที่เหมาะสม (ควรบริโภค 1 ช้อนชาต่อวัน) ผงชูรสจะช่วยกระตุ้นต่อมรับรสในร่างกายให้ทำงานดีขึ้น ทำให้เรารับประทานอาหารได้อร่อยและกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ทำงานให้ดีขึ้น แต่ถ้ารับประทานมากจนเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน นั้นคือ ทำให้ปริมาณโซเดียมในร่างกายสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นด่านแรกก่อนเบาหวานและสมองเสื่อม กลุ่มโรค NCDs มีผลต่อระบบประสาท และ อวัยวะระบบสืบพันธ์ผิดปกติ ดังนั้นหากผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพในระยะยาว ต้องการจะลดการบริโภคผงชูรสลง สามารถทำได้โดยค่อยๆลดปริมาณลงที่ละน้อยในการปรุงอาหารแต่ละครั้ง และหาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาทดแทน เราจะเห็นความ แตกต่างของระบบร่างกาย ที่สำคัญต้องจิตใจเข้มแข็ง เพราะหลายคนเกิดอุปทาน คิดไปเองว่าถ้าไม่ใส่ผงชูรสแล้วอาหารจะไม่อร่อย นั้นเอง
สำหรับรายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน ออกอากาศทุกวันอังคาร เวลา 15.00-16.00 น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz. รับชมถ่ายทอดสดและย้อนหลังได้ที่ Facebook รายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน และ https://radio.kku.ac.th/ รายการนี้ผลิตขึ้นเพื่อเปิดเวทีให้เครือข่ายชุมชนใกล้เคียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้ามาร่วมประชาสัมพันธ์กิจกรรม ความเคลื่อนไหวในชุมชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น องค์ความรู้ในด้านต่างๆ กับนักวิจัย นักวิชาการ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เข้าถึงชุมชน ชุมชนก็เข้าถึงมหาวิทยาลัย ตามยุทธศาสตร์การสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating shared value : CSV) ติดต่อเข้าร่วมรายการหรือแนะนำติชมได้ที่ e-mail:pchutinan@kku.ac.th
ข่าว : ชุตินันท์ พันธ์จรุง
ภาพ : สุริยา สีพรหมมา